วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (5)


How on earth are you ever going to explain in terms of chemistry and physics so important a biological phenomenon as love?
                                                                          Albert Einstein

ความรักเป็นเรื่องของสารเคมี………..แค่นั้นหรือ

คำถามนี้อาจทำให้หลายคนหงุดหงิด รวมทั้งไอน์สไตน์ด้วย บางคนอาจรับไม่ได้เอาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความสุข สมหวังกับความรักหลังจากพากเพียรพยายาม อดทน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาอย่างแสนสาหัส แต่ไม่เหลือความภาคภูมิใจให้บ้างเลย กลับไปยกความดีความชอบทั้งหมดให้สารเคมีซึ่งไม่มีชีวิตและความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น  สำหรับคนอกหักอาจรู้สึกผ่อนคลายขึ้นบ้างจนแอบชอบใจหัวเราะหึๆ  เพราะสามารถยกความผิดพลาดทั้งหมดให้กับเจ้าสารเคมีพวกนั้นไป พร้อมรำพันในใจว่า  เป็นเพราะพวกแกแท้ๆที่ไม่ประสานงานกันให้ดี ข้าถึงได้ชอกช้ำระกำทรวงถึงเพียงนี้
            
หากมาทบทวนด้วยการลำดับเหตุการณ์ดูอีกสักครั้งให้ปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว  ก็อาจทำให้หลายคนยอมรับความจริงอันขัดแย้งนี้ได้บ้าง  ลองมาดูกันนะครับ 

ลำดับเหตุการณ์ของความรักอันสัมพันธ์กับการหลั่งสารเคมี
                
              ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือการคลุมถุงชน ความรักก็ต้องเริ่มจากการมองเห็นก่อน ภาพที่มองเห็นจะถูกส่งผ่านทะลุทะลวงไปหลายด่านอย่างรวดเร็วสู่สมองส่วนแปรผล  เมื่อแปรออกมาว่า หล่อ สวย หุ่นดี มีเสน่ห์ เท่ห์ น่ารัก ดูดีไปหมด สมองก็จะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ตัวแรกคือ เจ้า PEA นั่นเอง ทำให้เรารู้สึกมีความสุข พึงพอใจ ชอบใจ แอบรักเล็กๆ เพราะมันคือ love drug ไงครับ เสริมด้วยฤทธิ์ของ  Endorphin ที่หลั่งรินตามมาติดๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย  มีชีวิตชีวา อยากเข้าไปทำความรู้จักแบบกล้าๆกลัวๆ หัวใจเริ่มเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้นเพราะความคิดที่จะทำเช่นนั้นมันไปกระตุ้นสมองอีกส่วนหนึ่งให้หลั่งสารออกมาอีกชุดใหญ่คือ เจ้า Dopamine ทำให้รู้สึกเป็นสุขอย่างมาก ตามด้วย  Adrenaline และ Norepinephrine  ซึ่งจะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น แรงขึ้น หายใจถี่ขึ้น  เกิดอาการตื่นเต้น  ดูลุกลี้ลุกลน สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ นักวิจัยเขาพบว่า  เพศชายจะมีการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นทางกายภาพได้ง่ายกว่าเพศหญิง โดยอ้างว่า เพศชายมีธรรมชาติของการรับรู้ในเรื่องภาพได้ดีกว่าเพศหญิง  จากนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ สารตัวต่อไปที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาคือ Serotonin ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย  ถึงตอนนี้ประตูแห่งความไว้วางใจเริ่มเปิดแย้มออกแล้ว  ถ้าคุณเลือกที่จะเดินหน้าด้วยการคบกับคนๆนั้นต่อไป ปฏิกิริยาทางเคมีก็จะทำหน้าที่ช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปได้  เมื่อคุณทั้งสองคบหากัน  ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ความคุ้นเคยก็จะเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้สารเคมีที่ถูกกระตุ้นออกมาคือ Oxytocin ซึ่งจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจากการสัมผัสผิวกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกอด การจูบ ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันต่อกันมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อความสัมพันธ์มีความลึกซึ้งจนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ละครั้งที่ถึงจุดสุดยอดทางเพศ (orgasm) สมองจะหลั่ง Oxytocin ออกมาในปริมาณมากที่สุด  ทำให้เกิดความผูกพันกันอย่างเปี่ยมล้นระคนไปด้วยความสุขและผ่อนคลายสุดๆ  สารเคมีอีกตัวหนึ่งที่หลั่งออกมาขณะถึงจุดสุดยอดคือ Vasopressin โดยเฉพาะในเพศชาย  สารตัวนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างความทรงจำนอกเหนือจากความรู้สึกผูกพันทางใจ มันจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นสารที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเภท ผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) 

ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความเร็วดุจแสง  จากการทำงานประสานกันของเซลนับล้านและเส้นใยประสาทในสมองหลายส่วนกลับไปกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์  แต่ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าเพียงไร มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้ทุกขั้นตอน
                     
เรื่องน่าเศร้าก็คือ เมื่อปฏิกิริยาของสารเคมีเหล่านี้ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง  จากการศึกษาพบว่าอยู่ระหว่าง 18 เดือน ถึง 4 ปี คือต่อจากช่วง Romantic love (6-18 เดือน) จากนั้นสมองจะเริ่มดื้อต่อสารเคมีดังกล่าว ความตื่นเต้นหวาดเสียว ความน่าท้าทาย น่าค้นหาเริ่มจืดจางลง ทุกอย่างดูซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย เหมือนโลกหยุดหมุน หากทั้งสองฝ่ายไม่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดหมายใหม่ของชีวิตที่ใหญ่กว่าเดิมมาเติมเต็มแล้วละก็ ชีวิตคู่ของพวกเขาย่อมตกอยู่ในอันตราย นี่จึงเป็นที่มาของสถิติหย่าร้างสูงสุดในปีที่ 4 ไม่ใช่ปีที่ 7 (seventh year’s itch) อย่างที่เคยเข้าใจกัน

บทต่อไปขอเข้าสู่เรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นอีก…………ความเข้ากันได้ !

ไม่มีความคิดเห็น: