วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ด้านมือของความรัก-ความหึงหวง(2)


ความกลัวทำให้เกิดความหึงหวงได้อย่างไร ?
                ความกลัว ถือเป็นรากเหง้าของความหึงหวง เป็นความกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการอยู่คนเดียว กลัวความเจ็บปวดทางอารมณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน) กลัวว่าอนาคตจะขาดที่พึ่งยามแก่เฒ่า ความกลัวในลักษณะเช่นนี้เกิดได้กับทุกคน ต่างกันที่เนื้อหาและความรุนแรง ผู้ที่มีการนับถือตนเองต่ำ ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษอะไร มักจะขาดความมั่นใจในคนรัก เพราะระแวงว่าสักวันหนึ่ง เธอหรือเขาอาจพบคนที่ดีกว่า นอกจากนั้น อาจเกิดจากความกลัวที่เคยได้รับในในวัยเด็กซึ่งเกิดจากการถูกทอดทิ้ง (และยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึก) หรือ กลัวความผิดหวังในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากรักครั้งแรก (จากการถูกคนรักนอกใจ)

ความหึงหวงในคน
           หากคุณมีคนรักอยู่ในเวลานี้ หรือเคยมีมาก่อนก็ตาม เชื่อว่า คงมีสักครั้งหนึ่งที่คุณรู้สึกหึงหวงคนรักขึ้นมา เช่น เห็นคนรักกำลังพูดคุยกับเพื่อนต่างเพศอย่างสนิทสนมในระหว่างออกงานสังคม, กำลังติดต่อกับเพื่อนต่างเพศผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ facebook ในขณะที่คุณนอนอยู่ข้างๆ ปฏิกิริยาหลังจากนั้นคงแตกต่างกันไปในแต่ละคู่  
            สำหรับคนที่สามารถควบคุมสติได้ดี มีความสุขุม ก็อาจมองข้าม shot ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับความหึงหวง เช่น
  • คนที่ไม่หึงหวงมีหรือไม่ ถ้ามีจะหมายความว่าอย่างไรได้บ้าง
  • ความหึงหวงมีประโยชน์สำหรับชีวิตคู่หรือไม่
  • ความหึงหวงในคู่รักปกติควรมีลักษณะอย่างไร ทำอะไรได้แค่ไหน
  • ทำอย่างไรจึงจะควบคุมความหึงหวงให้อยู่ในระดับปกติ ไม่มากหรือน้อยเกินไป

             การที่จะเข้าใจเรื่องความหึงหวงได้ง่ายขึ้น จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ โรค หรือ ภาวะเสพติดรัก ด้วย (ผมหวังว่าจะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ในครั้งต่อไป) เพราะความรู้ทำให้เกิดปัญญา สามารถตั้งรับและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ประเด็นที่ขอเน้นย้ำกันตรงนี้ก็คือความจริงที่ว่า

จิตใต้สำนึกของคนเสพติดรักทุกคน  เต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดกลัวการถูกทอดทิ้ง
               
               ซึ่งความกลัวเช่นนี้เป็นต้นตอของความรู้สึกไม่มั่นคง คนรักของพวกเขาจึงเป็นเพียงหลักประกันของความมั่นคงทางจิตใจ พวกเขาจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคนรักอย่างมาก อันเนื่องมาจากความกลัวว่าจะสูญเสียคนรักไป
               
                คนเสพติดรักจึงเป็นคนที่หึงหวงอย่างรุนแรงโดยไม่ได้มี รักแท้ ต่อคนรักเลย
                ความหึงหวงของพวกเขาจัดอยู่ในระดับ ไม่ปกติ

นักวิชาการจึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการจำแนกความหึงหวงในระดับ ผิดปกติ ออกจากระดับ ปกติ ดังนี้
  • มีความวิตกกังวลสูงมาก หมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับคนรักอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คนรักไม่ได้อยู่ด้วย ซึ่งเทียบได้กับอาการวิตกกังวลต่อการถูกทอดทิ้ง(Separation anxiety) ในเด็กเล็กๆที่ต้องการให้แม่อยู่ด้วยตลอดเวลา พฤติกรรมที่พบบ่อยคือ การโทรศัพท์ตรวจสอบอย่างถี่ยิบว่าคนรักอยู่ที่ไหน อยู่กับใครในขณะที่คนรักอยู่นอกบ้าน (ต่างจากอาการหวาดระแวงที่พบในโรคจิตเภท), การตรวจเช็คโทรศัพท์มือถือคนรักว่าได้โทรฯไปหาใครบ้างในรอบ 24 ชั่วโมง, การซักไซ้คนรักอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำในช่วงเวลาที่น่าสงสัย รวมถึงการตรวจเช็คการติดต่อผ่านอุปกรณ์สื่อสารทันสมัยอื่นๆ 
  • ไม่มีสมาธิในการทำงานและทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน
  •  มีปัญหาทะเลาะวิวาทกับคนรักอยู่เป็นประจำอันเนื่องมาจากความสงสัยและหวาดระแวงว่าคนรักจะนอกใจ

สัตว์……มีความหึงหวงหรือไม่
               เราคงไม่สามารถทราบได้ว่า สัตว์มีความหึงหวงหรือไม่ หากพวกมันมีความหึงหวงจริงก็คงไม่อยู่ในระดับเดียวกับคน เพราะคนมีสมองที่สลับซับซ้อนกว่าทำให้มีความคิดและจินตนาการได้มากกว่า  สัตว์ตัวผู้ที่พ่ายแพ้ในศึกชิงนาง ก็เพียงบินหนี หรือวิ่งหนีไปหาคู่ตัวใหม่ ไม่เสียใจจนต้องบินด้วยความเร็วสูงพุ่งชนหน้าผาคอหักตาย หรือกระโจนลงแม่น้ำเชี่ยวกรากดับชีพตัวเองอย่างแน่นอน ในเรื่องนี้มีนักวิชาการหลายท่านได้ทำการศึกษาไว้ และพบว่า มีสัตว์หลายสายพันธุ์ที่ตัวผู้กับตัวเมียมีพฤติกรรมแสดงความเป็นเจ้าของคู่มันอย่างชัดเจน เช่น ชะนีตัวผู้จะขับไล่ตัวผู้อื่นๆออกจากอาณาเขตครอบครัวของมัน ส่วนตัวเมียก็จะขับไล่ตัวเมียอื่นๆเช่นกัน การศึกษาอีกกรณีหนึ่งทำในลิงชิมแพนซี ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโครโมโซมใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด โดยการสังเกตพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ของมัน พบว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ลิงชิมแพนซีตัวเมีย (ที่มีลูกในวัยสาว) กำลังมีท่าทีเชิญชวนลิงหนุ่มตัวหนึ่งให้มีเพศสัมพันธ์กับมัน แต่ลิงหนุ่มตัวนั้นไม่สนใจ กลับเข้าหาลูกสาวและทำท่าจะร่วมเพศ แม่ลิงรีบตรงเข้าหาลิงหนุ่มตัวนั้นและทุบตีอย่างแรง (ด้วยความหึงหวง ?)
                 
               อีกการทดลองหนึ่งที่ทำในนกภูเขาชนิดหนึ่งโดย Dr. David P. Barash นักชีววิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary biologist) และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาใช้นกตัวผู้ที่สตัฟฟ์ (stuffed) ไว้วางใกล้ๆรังนกตัวผู้ซึ่งเป็นเจ้าของรัง เมื่อเจ้าของรังบินกลับมาเห็นเข้าก็ส่งเสียงร้องอย่างดัง และตรงเข้าจิกงับนกสตัฟฟ์ตัวนั้นอย่างแรง ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ มันยังตรงเข้าทำร้ายคู่ของมันด้วยการจิกและดึงทึ้งขนเส้นสำคัญๆบริเวณปีกจนหลุดออกมา จนในที่สุดเธอต้องบินหนีไป
               นกตัวผู้ตัวนี้ทำไปเพราะความหึงหวงหรือไม่?
               แต่ เพียงอีกสองวันต่อมา ตัวเมียตัวใหม่ก็เข้ามาแทนที่…………… ดูช่างคล้ายกับพฤติกรรมของสัตว์ประเสริฐตัวผู้บางส่วนเสียจริงๆ

สรุป
               คุณอาจสงสัยว่า ความหึงหวงคนรักของมนุษย์เป็นสัญชาติญาณ หรือการเรียนรู้กันแน่ สัตว์ตัวผู้บางสายพันธุ์เช่น สิงโต ช้าง ต้องต่อสู้กับตัวผู้อื่นๆเพราะต้องการเป็นเจ้าของตัวเมียทั้งฝูง ในขณะที่สัตว์บางสายพันธุ์ เช่น นกกระเรียน นกเงือก หนู Prairie vole (ได้เคยกล่าวไว้ในบทก่อนๆ) เป็นประเภทรักเดียวใจเดียวชั่วชีวิต  ความรู้เกี่ยวกับสารสื่อประสาทและการทำงานของสมองที่แตกต่างกันนั้น เพียงพอหรือไม่สำหรับการอธิบายความแตกต่างของพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของสัตว์ต่างสายพันธ์ เราไม่รู้ว่าพวกมันคิดหรือมีแรงจูงใจต่างกันหรือไม่และอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างไปจากมนุษย์หรือไม่ ส่วนมนุษย์เองนั้นคิดเหมือนหรือต่างไปจากพวกมันหรือไม่  ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่า
                มนุษย์....................... มีหลายสายพันธุ์ เช่นกันหรือเปล่า ?

หัวข้อต่อไปน่าสนใจมากๆ เพราะคนส่วนใหญ่ทำผิดกันอยู่ทุกวี่วันโดยไม่รู้ตัว ลองติดตามดูนะครับ

ด้านมืดของความรัก-ความหึงหวง(1)


ด้านมืดของความรัก
              
             คุณเคยสังเกตไหมว่า ชีวิตคนเรามักเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่มีสองด้านเสมอ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เช่น สว่าง-มืด, สูง-ต่ำ, ดำ-ขาว, หนาว-ร้อน, หิว-อิ่ม, อยาก-เบื่อ, ความดี-ความชั่ว, ความรวย-ความจน, สุข-ทุกข์, สมหวัง-ผิดหวัง โดยเฉพาะเรื่องของ ความรัก ที่เรากำลังมาทำความรู้จักกับมันมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการความรัก แต่ไม่ว่าคุณจะอยากมี เคยมี หรือกำลังมีความรักอยู่ก็ตาม ผมเชื่ออีกเช่นกันว่า ทั้งๆที่คุณรู้ว่า ความรักจะนำความสุขมาให้คุณอย่างมากก็ตาม  แต่ลึกๆแล้วคุณก็อดกังวลไม่ได้ว่า มันจะนำความทุกข์มาให้คุณด้วยเช่นกัน ความกังวลนี้หากไม่ได้รับการแก้ไขทันเวลาก็อาจกลายเป็นความหวาดหวั่นจนทำให้คุณปฏิเสธความรักไปเลย หรืออาจทำอะไรแบบกลัวๆกล้าๆ เบื่อๆอยากๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไปไม่รอด เพราะความรักไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จึงต้องทำอย่างจริงจัง แต่ถึงจะมุ่งมั่นเอาจริงกับมันเต็มที่ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จทุกรายไป  สำหรับคนที่เคยผิดหวังมาก่อน ย่อมรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดรวดร้าวจนยากที่จะลืม ชีวิตช่วงนั้นเหมือนตกอยู่ใน ความมืดสนิท  มองไม่เห็น ไปไม่เป็น หมดกำลัง ไม่อยากพบใคร อยากตาย
              
               มีวิธีป้องกัน ความมืด ไม่ให้เกิดกับความรักของคนเราได้บ้างไหม หากเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้มันกลับมาสว่างอีกครั้ง มีแน่นอนครับ และมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น
              
               โดยการทำความรู้จักกับมันให้ดีเสียก่อน ด้วยสายตาที่ไม่มืดบอดไงครับ แต่ที่น่าตกใจก็คือ ความมืดบอดเหล่านั้นมันอยู่ในจิตใจของเราอยู่แล้ว อยู่มานานมาก และจะยังคงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องยากที่เราจะสลัดมันทิ้งไป ทั้งนี้ก็เพราะความมืดบอดเหล่านั้นมันได้แฝงตัวมากับขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตัวกำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมผิดๆให้กับสังคมมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว  พวกเราจึงคุ้นเคยกับมันและยอมให้มันมากำหนดวิถีชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว และไม่ตระหนักว่า สักวันหนึ่ง พวกมันจะหวนกลับมาทำลายชีวิตรักของเราให้พังทลายลงได้
              
                 เชิญพบกับพวกมันได้แล้วครับ ด้านมืดของความรัก

1.  ความหึงหวง (Jealousy)
ความหมาย
                     โดยทั่วไป เรามักคุ้นเคยกับคำว่า jealousy ” ในความหมายของ ความอิจฉาริษยา แท้จริงแล้วคำนี้ยังแปลว่า ความหึงหวง อีกด้วย เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบความเกี่ยวข้องกันคือ ความหึงหวงนั้นมีความอิจฉาร่วมอยู่ด้วย ที่เหลือคือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ, ความระแวงสงสัย, ความกลัว และความโกรธ จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำจำกัดความสั้นๆให้กับคำว่า ความหึงหวง ”  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คำนี้มีความหมายที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อน

ความหึงหวงเกิดขึ้นได้อย่างไร
                      ความหึงหวง เป็นเรื่องของสัญชาติญาณหรือเกิดจากการเรียนรู้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความรักใช่ไหม เป็นเรื่องสากลคือเกิดกับชนทุกชาติ ทุกวัฒนธรรมหรือไม่  สัตว์มีความหึงหวงหรือเปล่า นักวิชาการพยายามหาคำตอบเหล่านี้โดยอาศัยเหตุผลทางด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และจิตวิทยามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่การหาข้อสรุปในเรื่องที่เกี่ยวกับนามธรรมเช่นนี้ทำได้ยากลำบากกว่าเรื่องที่เป็นรูปธรรมมาก  ความหึงหวง เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม การศึกษาจึงต้องทำกับคนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการสัมภาษณ์ สอบถามกันโดยตรง รวมทั้งศึกษาจากบันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนความรู้สึกในเรื่องนี้เอาไว้  บางครั้งยังมีการศึกษาในสัตว์อีกด้วย
                      
                   นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาในชนเผ่า Aborigines ที่เมือง Arnhem Land ประเทศออสเตรเลีย พบว่า พวกเขายอมรับว่ามีความหึงหวงรุนแรงในคู่ครองของตน และสามารถเกิดขึ้นได้แม้เพียง เห็นคนรักของตนกำลังจ้องมองเพศตรงข้าม ในสังคมของพวกเขา ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน ผู้ชายที่มีภรรยาหลายคนมักมีความหึงหวงมากขึ้นตามลำดับ เพราะกลัวว่าภรรยาคนหนึ่งคนใดจะนอกใจ ในขณะที่บรรดาภรรยาต่างก็แสดงความหึงหวงสามีคนเดียวกันของพวกเธอไม่ต่างจากภรรยาเดี่ยว
                   
                    ย้อนหลังไปสัก 3-4 ล้านปี ในยุคที่มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ ผู้ชายต้องออกหาอาหารมาให้ทุกคนในครอบครัว ผู้หญิงที่เป็นคู่ของตัวเองทำหน้าที่ดูแลลูกๆ และประกอบอาหาร หากวันหนึ่งผู้ชายกลับมาและพบว่าคู่ของตนกำลังมีอะไรกับชายอื่น เขาคงต้องโกรธจัด ตรงเข้าต่อสู้ ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายกันไปข้างหนึ่ง  สำหรับฝ่ายหญิงก็คงไม่ต่างกัน หากพบว่าคู่ของตนไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอก็น่าจะตรงเข้าทำร้ายทั้งหญิงคนนั้นและคู่ของเธอด้วยความหึงหวง ตามด้วยการขับไล่หญิงคนนั้นออกจากที่แห่งนั้นเสีย หากไม่มีความหึงหวงระหว่างคู่ครอง ก็อาจทำให้ชีวิตครอบครัวแตกแยก ส่งผลต่อการอยู่รอดของลูกๆ  ความหึงหวงอย่างรุนแรงของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยเหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้คู่ครองนอกใจกัน ทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อสถาบันครอบครัวในยุคแรกๆของมนุษยชาติ  เหล่านี้คือมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์มีการพัฒนาตัวเองมาอย่างไร จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาได้  สิ่งสำคัญที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันควรตระหนักร่วมกันก็คือ พวกเราได้ข้อคิดอะไรบ้างที่จะช่วยกันนำพาเผ่าพันธุ์ของตนเองให้อยู่รอดต่อไป ประการสำคัญคือ ควรเป็นสังคมที่สงบสุข มีการแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันในทุกรูปแบบ ไม่มีสงคราม เป็นสังคมของมนุษย์ผู้เจริญอย่างแท้จริง
                 
                    นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ทำการวิจัยเรื่องความหึงหวงในวัฒนธรรมต่างๆ ได้ผลสรุปที่น่าสนใจ และเป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ คู่ครองที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งสองเพศจะมีความหึงหวงในความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์เรื่องเพศ โดยจินตนาการไปถึงรายละเอียดของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักกับชู้  ส่วนคู่รักที่มีสัมพันธ์กันมายาวนาน พบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ดังนี้
-     ผู้ชาย  มีความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเพศสัมพันธ์ มากกว่าการถูกทรยศหักหลังเพราะความไม่ซื่อสัตย์ทางอารมณ์
-     ผู้หญิง มีความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ทางอารมณ์ มากกว่าในเรื่องเพศสัมพันธ์

Dr. Helen Fisher นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในงานวิจัยเกี่ยวกับความรักและเขียนหนังสือหลายเล่ม ได้ทำการทดสอบทางจิตวิทยาเรื่องความหึงหวงของหญิงชายชาวอเมริกัน พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในแง่ปริมาณ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ การตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
-      ผู้หญิง โดยทั่วไปมักเต็มใจที่จะแกล้งทำเป็นไม่สนใจ เพื่อต้องการรักษาชีวิตคู่เอาไว้ มีลักษณะประนีประนอมมากกว่าฝ่ายชาย
-      ผู้ชาย  มักเลือกใช้วิธีรุนแรงเด็ดขาด เช่น ใช้คำพูดก้าวร้าว ทำร้ายร่างกาย อาจถึงขั้นฆ่าให้ตาย  หรือลงเอยด้วยการหย่าร้าง จากสถิติการฆาตกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ละปีพบว่า ความหึงหวงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ นักวิชาการท่านนี้ยังเชื่อว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในวัฒนธรรมอื่นๆ แต่มีความยากลำบากในการเก็บข้อมูลเพราะการปิดกั้นทางวัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง
                
การค้นพบนี้ ทำให้เกิดความสงสัยตามมาว่า อะไรเป็นสาเหตุของความแตกต่างนี้ จึงต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ในยุคมนุษย์ถ้ำ ซึ่ง เชื่อกันว่า ผู้ชายแต่ละคนมีคู่ครองมากกว่าหนึ่งคน  เพราะผู้ชายมีหน้าที่เข้าป่าล่าสัตว์  มีโอกาสเสียชีวิตจากสัตว์ร้ายและสัตว์มีพิษ จากอุบัติเหตุตกต้นไม้ หน้าผาสูง การต่อสู้กับคนต่างเผ่าพันธุ์  ทำให้ประชากรเพศหญิงมีจำนวนมากกว่า ครั้นเมื่อผู้ชายมีผู้หญิงอยู่ในครอบครองจำนวนมาก ก็อาจเกิดความหวาดระแวง กลัวว่า ช่วงเวลาที่พวกเขาออกไปล่าสัตว์ จะมีชายอื่นมาสวมเขาให้ ทุกครั้งที่บรรดาหญิงในสังกัดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ลูกในท้องเป็นของตนหรือไม่ ความกังวลนี้จึงผลักดันพวกเขาให้ต้องการผู้หญิงของเขาทุกคนมีเพศสัมพันธ์กับเขาเพียงคนเดียว ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีความคิดว่าพวกเธอต้องลงทุนลงแรงไปมากมายในการมีลูกคนหนึ่งๆ จำเป็นที่ฝ่ายชายจะต้องแบกภาระนี้ร่วมกันกับเธอ การไปมีหญิงอื่นแม้เพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ จากเหตุผลที่ยึดเอาความต้องการของตนเองของทั้งสองเพศนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความหึงหวง ในที่สุด

Dr. Gary L. Brase  นักจิตวิทยาและนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยประจำรัฐ แคนซัส (Kansas State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยโดยเลือกประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่างกัน พบว่า ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง เช่น บราซิล ผู้ชายจะมีระดับความหึงหวงรุนแรงกว่าผู้ชายในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มน้อยกว่า เช่น ญี่ปุ่น (ผมไม่ทราบว่า เขาวัดระดับความหึงหวงกันอย่างไร เดาเอาว่า คงใช้แบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงและความตรงมาแล้วตามหลักวิชาสถิติและการวิจัยนั่นแหละครับ) การค้นพบนี้ ทำให้เห็นถึงความสอดคล้องกันกับเหตุผลดังกล่าวข้างต้น (มีลูกดกแต่ไม่แน่ใจว่าเป็น ลูกใครหว่า ก็เลยระแวงจนเกิดความหึงหวง) ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไร คงต้องศึกษากันต่อไปอย่างละเอียดโดยคำนึงถึงตัวแปรต่างๆ เช่น ความเชื่อทางศาสนา, ค่านิยม, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, ระดับการศึกษา, ฐานะทางเศรษฐกิจ, ระดับชนชั้นทางสังคม, ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

ในตอนต่อไปผมจะอธิบายให้เข้าใจว่า ความกลัว ทำให้เกิด ความหึงหวง ได้อย่างไร ?

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อาณาเขตแห่งตัวตน (Ego Boundary)-2


               เราลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่ทั่วๆไปกันบ้างนะครับ
               
               เวลาที่เกิดความขัดแย้งระหว่างภรรยาสามี หลายครั้งเกิดจากการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมของฝ่ายหนึ่ง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจและมีปฏิกิริยาตอบโต้ เริ่มด้วยการโต้เถียงกันไปมา ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสงครามน้ำลายได้สักพัก ทั้งสองฝ่ายอาจสงบศึกกันไปเองโดยการเงียบลงของฝ่ายหนึ่ง แต่หากต่างฝ่ายยังไม่หยุด ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่ฝ่ายหนึ่งควบคุมอารมณ์ไม่ได้อีกต่อไป และปลดปล่อยอารมณ์ออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น ร้องไห้คร่ำครวญเสียงดัง ร้องกรี๊ดลั่นบ้าน ขว้างปาข้าวของ ทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหรือตนเอง จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดคือ การฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย หรือทั้งสองอย่าง
               หากเราลองมองเหตุการณ์ย้อนหลังจะพบความจริงว่า ความขัดแย้งต่างๆในครอบครัวมักเริ่มต้นจากคำพูดในเชิงลบ เช่น ตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ ข่มเหง ข่มขู่ ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของ การรุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน ของอีกฝ่ายนั่นเอง จากนั้น กลไกทางจิต (Mental / Defense mechanism) ของอีกฝ่ายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ
                                 1.  สู้ (Fight)   2.  สยบยอม (Freeze)   3.  หนี (Flight)
                
จะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้นั้น
    1. หากเป็นคนแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ ก็จะโต้ตอบกลับไปเต็มที่ ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตาต่อตาฟันต่อฟัน กล้าได้กล้าเสีย วัดใจกันไปเลย คนกลุ่มนี้ใช้กลไกทางจิตที่เรียกว่า การสู้ (Fight)
    2. ถ้าเป็นคนจิตใจอ่อนแอ ตกใจง่าย ไม่สู้คน ก็จะเป็นฝ่ายนิ่งเฉย หรือเพียงแค่ร้องไห้เสียใจ ในที่สุดก็ยอมจำนนทนอยู่กับคู่ครองต่อไปเพื่อความอยู่รอดทางกายภาพ กลไกทางจิตแบบนี้คือ การสยบยอม (Freeze)
    3. ในกรณีที่ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆแล้วไม่ได้ผล เล็งเห็นว่าการทนอยู่ต่อไปไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ความทุกข์ระทม ประตูหน้าต่างทุกบานปิดตายก็จะเลือกออกทางหลังคา ยอมเป็นฝ่ายหนีไปจากที่นั้นสู่ชีวิตใหม่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกการทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาและความทุกข์ใจต่างๆ กลไกทางจิตเช่นนี้ก็คือ การหนี (Flight)
               
               แต่หากเป็นคนที่จิตใจเยือกเย็น มีวุฒิภาวะสูง จะตั้งสติได้ดี เลือกที่จะนิ่งเงียบสักครู่เพื่อจับประเด็นให้ได้ว่าอีกฝ่ายเขากำลังไม่พอใจเรื่องอะไร เพราะอะไร เกิดจากความเข้าใจผิดหรือไม่ รอจังหวะที่จะพูดเพื่อทำความเข้าใจ มีความยืดหยุ่น เลือกใช้คำพูดที่อีกฝ่ายฟังแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น หรือโกรธน้อยลง ประเมินอารมณ์ของอีกฝ่ายได้ถูกต้อง และสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมว่า ควรจะพูดหรือทำอย่างไรต่อไปในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ใช่การสงบนิ่งในความหมายของการสยบยอม (Freeze) หรือยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้ แต่เป็นการใช้กลยุทธ์แบบรอคอยจังหวะ ไม่กระทบต่อตัวตน (ego) หรือ ศักดิ์ศรี (dignity) ของทั้งสองฝ่าย หากจะรู้สึกบ้างก็สามารถยอมรับได้ นับเป็นการแก้ปัญหาแบบประนีประนอม ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงในหลายสถานการณ์และให้ผลดีในระยะยาว

ชีวิตคู่ คือ เราเท่านั้นหรือ ?             
               บ่อยครั้งที่ปัญหาในชีวิตคู่เกิดจากการที่ฝ่ายหนึ่ง คิด และ รู้สึก แทนอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น 
  • ต้องการแสดงความห่วงใยให้อีกฝ่ายรับรู้ เพื่อเขาจะได้รักเรามากขึ้น
  • ต้องการสื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า ฉันเข้าใจความรู้สึกของเธอเป็นอย่างดี” “ฉันรู้นะว่า เธอคิดอะไรอยู่
  • เกิดจากกการเรียนรู้ผิดๆของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับความรักว่า รักแท้ย่อมเข้าใจในรักคือ ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันไปเสียหมดทุกเรื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเราทุกคนต่างก็มีอาณาเขตแห่งตัวตน (ego boundary) ด้วยกันทั้งนั้น

              สิ่งที่คู่รักต้องเข้าใจตรงกันก็คือ ชีวิตคู่ ต้องประกอบด้วย เรา” “ฉันและเธอไม่ใช่มีแต่ เราเท่านั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมหันต์สำหรับคู่รักโดยทั่วไปที่คิดว่า เราต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวโดยสิ้นเชิงหลังชีวิตแต่งงาน มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดเช่นนี้จนไม่กล้าที่จะรักใคร   
             
              หากเปรียบคนเราเป็นบ้าน ทุกบ้านต้องมีรั้วกั้นเพื่อกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจน แต่เพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อยมักไม่ค่อยจะถูกกัน บางคนมีนิสัยเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน จึงคอยเอาเปรียบเล็กๆน้อยๆหรือทำอะไรไม่เข้าท่า เช่น จูงสุนัขของตัวเองไปถ่ายหน้าบ้านคนอื่น เปิดเพลงดังๆเผื่อข้างบ้าน บีบแตรรถอย่างดังยามวิกาลเพื่อเรียกคนรับใช้มาเปิดประตูบ้าน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเข้าข่าย รุกล้ำอาณาเขตส่วนบุคคล ของคนอื่นทั้งสิ้น
              
              สำหรับ ตัวตนของแต่ละคนนั้น เส้นแบ่งเขตเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาล้ำเส้นกันได้ง่ายกว่ารั้วบ้าน ในชีวิตประจำวัน เราจึงมักรู้สึกว่า อาณาเขตแห่งตัวตนของเราถูกกระทบหรือรุกล้ำอยู่บ่อยๆ  
              
                แล้วจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนด อาณาเขตแห่งตัวตนระหว่างเรากับคนรักของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรุกล้ำเขตแดนกัน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
      
                เส้นแบ่งอาณาเขตแห่งตัวตนระหว่างคู่รักนั้น ควรมี 2 ลักษณะ คือ
1.  แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถปกป้องตัวตนของทั้งสองไม่ให้อีกฝ่ายล่วงล้ำเข้ามาได้
2.  ยืดหยุ่น สามารถให้กระแสความคิด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงคำพูดและการกระทำของทั้งสองฝ่ายซึมผ่านไป
     มาได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน
                   
                 เส้นแบ่งเขตทั้งสองแบบนี้จะเกิดเป็นจริงได้ จำเป็นต้องมีการกำหนดกติกาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับชีวิตคู่ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
                 
                 ในที่นี้ ขอเสนอตัวอย่าง กติกาชีวิตคู่ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็น ของเรา ของฉัน และ ของเธอให้ท่านพิจารณาและเลือกนำไปทดลองปฏิบัติ โดยสามารถปรับแต่งได้ตามความเห็นพ้องของทั้งสองฝ่ายต่อไป

กิจกรรมที่เป็น ของเรา
·  อุทิศเวลาให้แก่กันและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
·  วางแผนชีวิตร่วมกัน เช่น การสร้างฐานะ สร้างอนาคตให้ลูก ไม่โยนภาระหน้าที่บางอย่างให้ฝ่ายเดียว เช่นการอบรมเลี้ยงดูลูก พ่อควรมีบทบาทที่ไม่น้อยกว่าแม่  ความคิดที่ว่า สามีเป็นคนหาเงิน ทำงานหนักกว่าภรรยา งานเลี้ยงลูกจึงควรเป็นหน้าที่ของภรรยาคนเดียว ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด และอาจส่งผลเสียอย่างมากจนเกินแก้ไขในระยะยาว ถึงแม้ภรรยาจะเป็นแม่บ้านเต็มตัวก็ตาม เพราะลูกๆของท่านต้องการทั้งแม่และพ่อ
·    แสดงความเอื้ออาธรต่อกันในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ยามเจ็บป่วย เวลามีเรื่องเครียดจากที่ทำงานหรือเรื่องทุกข์ใจต่างๆ
·    ปรึกษาหารือกันเวลาเกิดปัญหาในครอบครัวโดยไม่โยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง
·    ให้อภัยซึ่งกันและกัน หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจ สามารถถามไถ่กันได้โดยอีกฝ่ายไม่ควรแสดงความไม่พอใจหรือโกรธเคืองกัน
·    ไม่มีความลับระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง เช่น ภาวะหนี้สิน การถูกคดโกง ตรวจพบโรคร้าย แฟนเก่าโทรฯมาคุยหรือพยายามติดต่อผ่านทาง facebook  กรณีหลังนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะถึงแม้จะไม่มีเรื่องชู้สาว แต่คนรักปัจจุบันจะเกิดความหึงหวงรุนแรงได้ ควรให้เขาหรือเธอรับรู้ด้วยการแสดงความบริสุทธิ์ใจของคุณและยืนยันว่าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม อย่าลืมว่า ความลับไม่มีในโลก หากคุณยังไม่ตัดให้ขาด สักวันหนึ่งอาจเกิดความผิดพลาดจนยากต่อการแก้ไข (รายละเอียดอยู่ในบท ชู้ทางใจ”)

กิจกรรมที่เป็น ของฉันและของเธอ
คือ การเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ไม่ละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัว เช่น
                   -  ไม่ตรวจเช็คมือถือของคนรักเพื่อค้นหาว่าได้โทรหากิ๊ก หรือผู้ต้องสงสัยรายใดบ้าง
                   -  ไม่ตรวจเช็ค E-mail , facebook      หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ
                   -  ไม่ค้นลิ้นชักโต๊ะทำงานส่วนตัวหรืออ่านสมุดโน้ต บันทึกส่วนตัว
                   -  ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เช่น การทำงาน ปัญหาระหว่างญาติพี่น้องของอีกฝ่าย
                   -  ยอมรับในตัวตนของเขาว่า เขาก็เป็นคนเช่นนั้นเอง และเป็นมาก่อนที่จะรู้จักคุณ ในเมื่อคุณตัดสินใจเลือกเขาแล้ว แสดงว่าคุณยอมรับในตัวเขา หากคุณเลือกเขาเพราะคิดที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือข้อเสียบางอย่างของเขาในภายหลัง นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของคุณเอง

                        มีทางเลือกอยู่เพียงสองทางเท่านั้นที่คุณทำได้ในตอนนี้คือ
             1. เปลี่ยนความคิดของคุณเสียใหม่ หรือ
             2. เปลี่ยนคนรักใหม่

                    -  สำหรับคนที่ยังไม่มีความรัก ต้องระวังความคิดเช่นนี้ของตัวเอง และควรค้นหาคนรักต่อไปจนกระทั่งพบความจริงสองประการคือ
             1. คนๆนั้นไม่มีอยู่จริง
             2. คนๆนั้นมีอยู่จริง แต่มีเจ้าของแล้ว
                    -  ให้โอกาสซึ่งกันและกันในการทำกิจกรรมที่ชอบ ไม่บังคับอีกฝ่ายให้ทำในสิ่งที่คุณชอบโดยที่เขาไม่ชอบ

                  ข้อควรจำ
                 
                 เราทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง………ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก 
                  เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนนิสัย หรือบุคลิกภาพของใครได้…… แม้แต่ของตัวเราเอง
                  การเลือกคนรักโดยหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่างของเขาหรือเธอ ให้เป็นอย่างที่เรา
                  ต้องการ  จึงเป็นความเข้าใจผิดที่นำหายนะมาสู่ชีวิตคู่ในภายหลัง
                  สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ ความเหมือนและความแตกต่างของกันและกันนั้น
                  เป็นสิ่งที่เราต้องการและยอมรับได้หรือไม่……โดยไม่หลอกตัวเอง

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อาณาเขตแห่งตัวตน (Ego Boundary)-1


 ชีวิตคุณอาจเคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน
    
  • มีใครมาถามเรื่องส่วนตัวในแบบล้ำเส้นจนคุณรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ โกรธ 
  • ครบางคนในบ้านคุณเองเข้ามาในห้องนอนของคุณ แล้วค้นลิ้นชักเปิดสมุดไดอารี่บันทึกเรื่องราวลับเฉพาะ หรือ อ่านจดหมายเก่าๆของคุณ แม้คนที่ทำจะเป็นคุณแม่ของคุณเอง
  • ใครบางคนเข้าไปกล่าวถ้อยคำหยาบคาย โจมตีคุณอย่างเสียๆหายๆใน facebook,  tweeter ฯลฯ
             ทำไมคุณจึงรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ
                     ผิดหรือไม่ ที่คุณรู้สึกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟต่อบุพการี
             และอะไรคือต้นเหตุของความไม่พอใจเหล่านั้น
             
สามัญสำนึกของคนโดยทั่วไปจะตอบว่า เพราะความเป็นส่วนตัวของเราถูกรุกล้ำ โลกส่วนตัวของเรากำลังถูกกล้ำกลาย เราเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ต่อจากนี้ไป ใครๆก็สามารถล่วงรู้เรื่องราวส่วนตัวของเราได้หมด โดยเฉพาะเรื่องที่เราไม่อยากให้ใครรู้
             
              หมายความว่า คนเราต้องการความเป็นส่วนตัว อยากมีโลกส่วนตัวกันทุกคน  ใช่หรือไม่?
             
ผมเชื่อว่า คุณคงเคยได้รับรู้เรื่องราวของพฤติกรรมสัตว์บางสายพันธุ์ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลแมว (รวมถึง เสือ สิงโต) และ สุนัข ที่ปัสสาวะรดไปตามที่ต่างๆ ใต้ต้นไม้บ้าง ล้อรถยนต์ของคุณบ้าง นักพฤติกรรมศาสตร์อธิบายว่า เป็นการประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขตของพวกมัน เพื่อบอกไปยังสัตว์ตัวอื่นๆว่า ถิ่นนี้มีเจ้าของ ห้ามรุกล้ำเข้ามานะ
             
              ความต้องการเป็นเจ้าของอาณาเขตส่วนตัวของสัตว์  จึงเป็นเรื่องของสัญชาติญาณโดยแท้                        
              มนุษย์ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น สัตว์ประเสริฐ ก็ไม่พ้นจากกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินี้เช่นกัน                   
             
วิชาจิตวิทยา มีคำอธิบายเรื่องนี้ในหัวข้อ อาณาเขตแห่งตัวตน (Ego boundary) ไว้อย่างชัดเจน คำว่า อีโก้ (Ego) หมายถึง ตัวตน หรือ ตัวของเรา ส่วนคำว่า Boundary หมายถึง ขอบเขตหรืออาณาเขต  เมื่อนำมารวมกันเป็นคำว่า Ego boundary  จึงหมายถึง อาณาเขตแห่งตัวตนของเราแต่ละคน มีความหมายทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม สามเหตุการณ์ข้างต้นเป็นตัวอย่างของพฤติกรรม รุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ในหลายๆบ้าน กับหลายๆคน จนบางครั้งได้สร้างปัญหารุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น เราทุกคนจึงควรทำความรู้จักกับคำๆนี้ให้ดีพอ และตระหนักถึงผลเสียของ การรุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน ทั้งในแง่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ  
                
                ทั้งนี้เพราะว่า มนุษย์ทุกคนรักชีวิตของตนเอง ด้วยกันทั้งนั้น
                และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มี จิตวิญญาณเสรี
                
เราจะนำเอาความรู้เรื่องนี้ไปใช้กับ ความรัก ระหว่างคู่รักและคู่ชีวิตได้อย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมให้ความรักของพวกเขามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงตลอดไป
                เรามาดูตัวอย่างเพิ่มกันอีกสักหน่อยนะครับ
  • แฟนหนุ่มถามแฟนสาวหลังจากหลับนอนกันเป็นครั้งแรกว่า เธอเคยนอนกับชายอื่นมาแล้วหรือยัง
  • ภรรยาตรวจสอบความซื่อสัตย์ของสามีด้วยการค้นหาข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ email, Facebook ของสามี
  • อดีตสามีตามไปฆ่าอดีตภรรยา บางรายก็รวมสามีใหม่ไปด้วยอีกคน  

                ทั้งสามตัวอย่างข้างต้นล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงผ่านการบอกเล่าของผู้ป่วย กรณีที่สามปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆอยู่เป็นประจำ  เรื่องราวที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากสังคมมีความเข้าใจและยอมรับในเรื่อง อาณาเขตแห่งตัวตนของกันและกันอย่างถูกต้อง มิได้หมายความว่า ผมเห็นดีเห็นงามกับพฤติกรรมเหล่านั้นและควรให้มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปละลาบละล้วง ผมกลับคิดว่า ถ้าหากคนรักของคุณนอกใจคุณ เขาหรือเธอของคุณสามารถจะพูดได้หรือไม่ว่า ยังรักคุณอยู่ เพราะรู้ๆอยู่แล้วว่าเรื่องแบบนี้สักวันหนึ่งต้องถูกเปิดเผยจนได้ และคุณจะเสียใจเพียงใด  คุณเองก็เถอะยังจะรักเขาหรือเธอเหมือนเดิมต่อไปหรือไม่ เพราะ คนรักไม่เหมือนของเล่นที่ถูกขโมยไป แล้วคุณต้องตามหาให้เจอเพื่อนำกลับมาเล่นต่อ แต่มันมีผลกระทบต่อความรู้สึกของคุณอย่างใหญ่หลวง
                  
                 ถึงแม้ว่า จะลงเอยกันด้วยดีโดยการขอโทษหรือให้อภัยกัน แต่คุณจะทำใจได้มากน้อยเพียงใด และได้นานแค่ไหน แน่นอนว่าคุณจะยังคงมีความวิตกกังวลอยู่ดีว่า จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีกหรือไม่  
                 หากเราสามารถยอมรับกันให้ได้ว่า คนรักของเรามีสิทธิเปลี่ยนใจไปรักคนอื่นได้ ถ้าเราไม่สามารถทำให้เขาหรือเธอรักเราได้อีกต่อไป ผมเชื่อว่า เราก็จะไม่เจ็บปวดมากจนเกินไป ในทางกลับกัน หากคุณเป็นฝ่ายปันใจ คนรักของคุณก็กลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ หากคนรักของคุณยึดหลักตรรกะเดียวกันนี้ เธอหรือเขาก็ย่อมจะไม่เจ็บปวดมากเกินไปเช่นกัน
                 
                 พูดง่ายทำยาก แน่นอนครับ แต่เพราะเหตุใด
                 
                 ก็เพราะ คนในสังคมเดียวกัน มักมีความคิด ค่านิยม ความเชื่อคล้ายๆกัน อันถูกหล่อหลอมออกจากวัฒนธรรมเดียวกัน นอกเหนือจากกรอบความคิดในมิติทางสังคมจิตวิทยา (เช่น ความเสียหน้า ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสถานภาพของพ่อหม้ายกับแม่หม้าย ฯลฯ) แล้ว ยังมีเรื่องของความไม่เข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายชายนอกใจแล้วฝ่ายหญิงขอหย่าพร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในทางปฏิบัตินั้นมีปัญหามากมาย นับตั้งแต่การยื่นความจำนง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต  การฟ้องร้อง การต่อรองค่าชดเชยต่างๆ การถูกข่มขู่โดยฝ่ายชาย หากเปรียบเทียบกับในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า ระบบการแก้ปัญหาของเขามีการปกป้องผลประโยชน์ให้กับฝ่ายเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มักเป็นฝ่ายหญิงอีกเช่นกันที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ สำหรับสังคมไทยแล้วผมคิดว่าหนทางยังอีกยาวไกลนัก เพราะสังคมไทยยังจมปรักอยู่กับค่านิยมเก่าๆที่กดขี่เพศหญิงอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสองมาตรฐานของพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังแต่งงาน
 (จะขอพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่งในมุมมองที่ลึกมากขึ้น ในหัวข้อเรื่อง ความรัก-เกมแห่งอำนาจ ” ในบทที่ชื่อว่า          " ด้านมืดของความรัก" ซึ่งเป็นบทใหญ่ต่อจากบทนี้ครับ)

เรื่องนี้ยังมีต่ออีกหนึ่งตอนนะครับ โปรดติดตาม