วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ด้านมืดของความรัก-ความหึงหวง(1)


ด้านมืดของความรัก
              
             คุณเคยสังเกตไหมว่า ชีวิตคนเรามักเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่มีสองด้านเสมอ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เช่น สว่าง-มืด, สูง-ต่ำ, ดำ-ขาว, หนาว-ร้อน, หิว-อิ่ม, อยาก-เบื่อ, ความดี-ความชั่ว, ความรวย-ความจน, สุข-ทุกข์, สมหวัง-ผิดหวัง โดยเฉพาะเรื่องของ ความรัก ที่เรากำลังมาทำความรู้จักกับมันมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการความรัก แต่ไม่ว่าคุณจะอยากมี เคยมี หรือกำลังมีความรักอยู่ก็ตาม ผมเชื่ออีกเช่นกันว่า ทั้งๆที่คุณรู้ว่า ความรักจะนำความสุขมาให้คุณอย่างมากก็ตาม  แต่ลึกๆแล้วคุณก็อดกังวลไม่ได้ว่า มันจะนำความทุกข์มาให้คุณด้วยเช่นกัน ความกังวลนี้หากไม่ได้รับการแก้ไขทันเวลาก็อาจกลายเป็นความหวาดหวั่นจนทำให้คุณปฏิเสธความรักไปเลย หรืออาจทำอะไรแบบกลัวๆกล้าๆ เบื่อๆอยากๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไปไม่รอด เพราะความรักไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จึงต้องทำอย่างจริงจัง แต่ถึงจะมุ่งมั่นเอาจริงกับมันเต็มที่ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จทุกรายไป  สำหรับคนที่เคยผิดหวังมาก่อน ย่อมรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดรวดร้าวจนยากที่จะลืม ชีวิตช่วงนั้นเหมือนตกอยู่ใน ความมืดสนิท  มองไม่เห็น ไปไม่เป็น หมดกำลัง ไม่อยากพบใคร อยากตาย
              
               มีวิธีป้องกัน ความมืด ไม่ให้เกิดกับความรักของคนเราได้บ้างไหม หากเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้มันกลับมาสว่างอีกครั้ง มีแน่นอนครับ และมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น
              
               โดยการทำความรู้จักกับมันให้ดีเสียก่อน ด้วยสายตาที่ไม่มืดบอดไงครับ แต่ที่น่าตกใจก็คือ ความมืดบอดเหล่านั้นมันอยู่ในจิตใจของเราอยู่แล้ว อยู่มานานมาก และจะยังคงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องยากที่เราจะสลัดมันทิ้งไป ทั้งนี้ก็เพราะความมืดบอดเหล่านั้นมันได้แฝงตัวมากับขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตัวกำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมผิดๆให้กับสังคมมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว  พวกเราจึงคุ้นเคยกับมันและยอมให้มันมากำหนดวิถีชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว และไม่ตระหนักว่า สักวันหนึ่ง พวกมันจะหวนกลับมาทำลายชีวิตรักของเราให้พังทลายลงได้
              
                 เชิญพบกับพวกมันได้แล้วครับ ด้านมืดของความรัก

1.  ความหึงหวง (Jealousy)
ความหมาย
                     โดยทั่วไป เรามักคุ้นเคยกับคำว่า jealousy ” ในความหมายของ ความอิจฉาริษยา แท้จริงแล้วคำนี้ยังแปลว่า ความหึงหวง อีกด้วย เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบความเกี่ยวข้องกันคือ ความหึงหวงนั้นมีความอิจฉาร่วมอยู่ด้วย ที่เหลือคือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ, ความระแวงสงสัย, ความกลัว และความโกรธ จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำจำกัดความสั้นๆให้กับคำว่า ความหึงหวง ”  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คำนี้มีความหมายที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อน

ความหึงหวงเกิดขึ้นได้อย่างไร
                      ความหึงหวง เป็นเรื่องของสัญชาติญาณหรือเกิดจากการเรียนรู้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความรักใช่ไหม เป็นเรื่องสากลคือเกิดกับชนทุกชาติ ทุกวัฒนธรรมหรือไม่  สัตว์มีความหึงหวงหรือเปล่า นักวิชาการพยายามหาคำตอบเหล่านี้โดยอาศัยเหตุผลทางด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และจิตวิทยามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่การหาข้อสรุปในเรื่องที่เกี่ยวกับนามธรรมเช่นนี้ทำได้ยากลำบากกว่าเรื่องที่เป็นรูปธรรมมาก  ความหึงหวง เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม การศึกษาจึงต้องทำกับคนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการสัมภาษณ์ สอบถามกันโดยตรง รวมทั้งศึกษาจากบันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนความรู้สึกในเรื่องนี้เอาไว้  บางครั้งยังมีการศึกษาในสัตว์อีกด้วย
                      
                   นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาในชนเผ่า Aborigines ที่เมือง Arnhem Land ประเทศออสเตรเลีย พบว่า พวกเขายอมรับว่ามีความหึงหวงรุนแรงในคู่ครองของตน และสามารถเกิดขึ้นได้แม้เพียง เห็นคนรักของตนกำลังจ้องมองเพศตรงข้าม ในสังคมของพวกเขา ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน ผู้ชายที่มีภรรยาหลายคนมักมีความหึงหวงมากขึ้นตามลำดับ เพราะกลัวว่าภรรยาคนหนึ่งคนใดจะนอกใจ ในขณะที่บรรดาภรรยาต่างก็แสดงความหึงหวงสามีคนเดียวกันของพวกเธอไม่ต่างจากภรรยาเดี่ยว
                   
                    ย้อนหลังไปสัก 3-4 ล้านปี ในยุคที่มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ ผู้ชายต้องออกหาอาหารมาให้ทุกคนในครอบครัว ผู้หญิงที่เป็นคู่ของตัวเองทำหน้าที่ดูแลลูกๆ และประกอบอาหาร หากวันหนึ่งผู้ชายกลับมาและพบว่าคู่ของตนกำลังมีอะไรกับชายอื่น เขาคงต้องโกรธจัด ตรงเข้าต่อสู้ ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายกันไปข้างหนึ่ง  สำหรับฝ่ายหญิงก็คงไม่ต่างกัน หากพบว่าคู่ของตนไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอก็น่าจะตรงเข้าทำร้ายทั้งหญิงคนนั้นและคู่ของเธอด้วยความหึงหวง ตามด้วยการขับไล่หญิงคนนั้นออกจากที่แห่งนั้นเสีย หากไม่มีความหึงหวงระหว่างคู่ครอง ก็อาจทำให้ชีวิตครอบครัวแตกแยก ส่งผลต่อการอยู่รอดของลูกๆ  ความหึงหวงอย่างรุนแรงของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยเหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้คู่ครองนอกใจกัน ทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อสถาบันครอบครัวในยุคแรกๆของมนุษยชาติ  เหล่านี้คือมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์มีการพัฒนาตัวเองมาอย่างไร จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาได้  สิ่งสำคัญที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันควรตระหนักร่วมกันก็คือ พวกเราได้ข้อคิดอะไรบ้างที่จะช่วยกันนำพาเผ่าพันธุ์ของตนเองให้อยู่รอดต่อไป ประการสำคัญคือ ควรเป็นสังคมที่สงบสุข มีการแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันในทุกรูปแบบ ไม่มีสงคราม เป็นสังคมของมนุษย์ผู้เจริญอย่างแท้จริง
                 
                    นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ทำการวิจัยเรื่องความหึงหวงในวัฒนธรรมต่างๆ ได้ผลสรุปที่น่าสนใจ และเป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ คู่ครองที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งสองเพศจะมีความหึงหวงในความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์เรื่องเพศ โดยจินตนาการไปถึงรายละเอียดของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักกับชู้  ส่วนคู่รักที่มีสัมพันธ์กันมายาวนาน พบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ดังนี้
-     ผู้ชาย  มีความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเพศสัมพันธ์ มากกว่าการถูกทรยศหักหลังเพราะความไม่ซื่อสัตย์ทางอารมณ์
-     ผู้หญิง มีความรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ทางอารมณ์ มากกว่าในเรื่องเพศสัมพันธ์

Dr. Helen Fisher นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในงานวิจัยเกี่ยวกับความรักและเขียนหนังสือหลายเล่ม ได้ทำการทดสอบทางจิตวิทยาเรื่องความหึงหวงของหญิงชายชาวอเมริกัน พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในแง่ปริมาณ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ การตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
-      ผู้หญิง โดยทั่วไปมักเต็มใจที่จะแกล้งทำเป็นไม่สนใจ เพื่อต้องการรักษาชีวิตคู่เอาไว้ มีลักษณะประนีประนอมมากกว่าฝ่ายชาย
-      ผู้ชาย  มักเลือกใช้วิธีรุนแรงเด็ดขาด เช่น ใช้คำพูดก้าวร้าว ทำร้ายร่างกาย อาจถึงขั้นฆ่าให้ตาย  หรือลงเอยด้วยการหย่าร้าง จากสถิติการฆาตกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ละปีพบว่า ความหึงหวงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ นักวิชาการท่านนี้ยังเชื่อว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในวัฒนธรรมอื่นๆ แต่มีความยากลำบากในการเก็บข้อมูลเพราะการปิดกั้นทางวัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง
                
การค้นพบนี้ ทำให้เกิดความสงสัยตามมาว่า อะไรเป็นสาเหตุของความแตกต่างนี้ จึงต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ในยุคมนุษย์ถ้ำ ซึ่ง เชื่อกันว่า ผู้ชายแต่ละคนมีคู่ครองมากกว่าหนึ่งคน  เพราะผู้ชายมีหน้าที่เข้าป่าล่าสัตว์  มีโอกาสเสียชีวิตจากสัตว์ร้ายและสัตว์มีพิษ จากอุบัติเหตุตกต้นไม้ หน้าผาสูง การต่อสู้กับคนต่างเผ่าพันธุ์  ทำให้ประชากรเพศหญิงมีจำนวนมากกว่า ครั้นเมื่อผู้ชายมีผู้หญิงอยู่ในครอบครองจำนวนมาก ก็อาจเกิดความหวาดระแวง กลัวว่า ช่วงเวลาที่พวกเขาออกไปล่าสัตว์ จะมีชายอื่นมาสวมเขาให้ ทุกครั้งที่บรรดาหญิงในสังกัดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ลูกในท้องเป็นของตนหรือไม่ ความกังวลนี้จึงผลักดันพวกเขาให้ต้องการผู้หญิงของเขาทุกคนมีเพศสัมพันธ์กับเขาเพียงคนเดียว ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีความคิดว่าพวกเธอต้องลงทุนลงแรงไปมากมายในการมีลูกคนหนึ่งๆ จำเป็นที่ฝ่ายชายจะต้องแบกภาระนี้ร่วมกันกับเธอ การไปมีหญิงอื่นแม้เพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ จากเหตุผลที่ยึดเอาความต้องการของตนเองของทั้งสองเพศนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความหึงหวง ในที่สุด

Dr. Gary L. Brase  นักจิตวิทยาและนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยประจำรัฐ แคนซัส (Kansas State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยโดยเลือกประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่างกัน พบว่า ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง เช่น บราซิล ผู้ชายจะมีระดับความหึงหวงรุนแรงกว่าผู้ชายในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มน้อยกว่า เช่น ญี่ปุ่น (ผมไม่ทราบว่า เขาวัดระดับความหึงหวงกันอย่างไร เดาเอาว่า คงใช้แบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงและความตรงมาแล้วตามหลักวิชาสถิติและการวิจัยนั่นแหละครับ) การค้นพบนี้ ทำให้เห็นถึงความสอดคล้องกันกับเหตุผลดังกล่าวข้างต้น (มีลูกดกแต่ไม่แน่ใจว่าเป็น ลูกใครหว่า ก็เลยระแวงจนเกิดความหึงหวง) ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไร คงต้องศึกษากันต่อไปอย่างละเอียดโดยคำนึงถึงตัวแปรต่างๆ เช่น ความเชื่อทางศาสนา, ค่านิยม, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, ระดับการศึกษา, ฐานะทางเศรษฐกิจ, ระดับชนชั้นทางสังคม, ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

ในตอนต่อไปผมจะอธิบายให้เข้าใจว่า ความกลัว ทำให้เกิด ความหึงหวง ได้อย่างไร ?

ไม่มีความคิดเห็น: