วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (4)


วิธีสร้างดุลแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก
              
                 ไม่่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆเช่นนี้ในระดับสังคม แต่เมื่อพิจารณาถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในระยะยาวแล้ว นับเป็นเรื่องน่าท้าทายที่สมควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ด้วยการที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกันในเรื่องต่อไปนี้
1.   ยอมรับว่า การใช้อำนาจระหว่างคู่รักนั้นมีอยู่จริงในสังคมและอาจจะมีอยู่ในครอบครัวของท่านเอง
2.   ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
3.   ยอมรับให้ได้ว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย คำว่า ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ไม่ควรมีการนำมาใช้ในทุกโอกาส เพราะคำๆนี้มีนัยแห่งความคิดเหยียดเพศหญิงอยู่ในที  ถึงแม้ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีผู้ชายต่อผู้ชายด้วยกันเวลาที่รู้สึกไม่พอใจกัน หรือก่อนจะมีเรื่องกัน อีกคำหนึ่งคือคำว่า ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้ หากยังยอมรับคำพูดในทำนองนี้กันอยู่ต่อไป หมายความว่า สังคมไทยคิดว่า ผู้หญิงไม่มีศักดิ์ศรี ใช่ไหม มีใครเคยได้ยินคำว่า ศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงกันบ้างไหม เวลาที่ผู้หญิงจะตบกัน พวกเธอกู่ก้องร้องตะโกนว่า ลูกผู้หญิงฆ่าได้ หยามไม่ได้ หรือเปล่า  ในมุมมองของผู้ชาย ลูกผู้หญิง ฆ่าได้ หยามได้กระนั้นหรือ  หากยังไม่สามารถแก้ไขทัศนคติที่กดขี่ทางเพศเช่นนี้ออกไปจากสังคมไทย เราทุกคนก็ต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันต่อไป ใครจะแน่ใจได้บ้างว่า สักวันหนึ่ง เรื่องราวร้ายๆเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเราเอง หรือกับลูกหลานของเราที่เป็น…………………..ลูกผู้หญิง    

โฉมหน้าใหม่ของการใช้อำนาจสำหรับชีวิตคู่
                  
                   เมื่อได้เรียนรู้ถึงพลังของ อำนาจเช่นนี้แล้ว คู่รักทั้งหลายจึงควรมีความตระหนักในเรื่องการใช้อำนาจของตนเองอย่างสมดุล  เริ่มจากการทบทวน ความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งเป็นตัวกำหนด ทัศนคติและค่านิยมผิดๆกันอย่างจริงจังในเรื่องบทบาทหน้าที่ของภรรยาและสามี เพื่อให้มีการแบ่งอำนาจและหน้าที่อย่างเหมาะสม ตระหนักและยอมรับความจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนต้องการเสรีภาพและความเสมอภาค หากเลือกเกิดได้ ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นทาส บ่าว ไพร่ เป็นลูกน้อง ลูกจ้าง ลิ่วล้อคนอื่น เพราะคนทุกคนรู้สึกถึงความมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนของตนเองทั้งสิ้น ในชีวิตครอบครัวจึงมีเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ฝ่ายหนึ่งต้องการมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง นั่นก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นคง  กลัวไม่ได้รับการยอมรับ  กลัวการถูกทอดทิ้ง  ซึ่งเกิดจากบาดแผลทางใจในวัยเด็กของผู้ใช้อำนาจนั่นเอง 
              
                   ปัญหาสังคมทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัว การเรียนรู้การใช้อำนาจอย่างผิดๆในวัยเด็กเป็นสาเหตุของการใช้อำนาจอย่างผิดๆในโรงเรียน, ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (การใช้อำนาจของรุ่นพี่ในพิธีรับน้องใหม่ที่ทำกันจนเป็นประเพณี ซึ่งบางสถาบันทำกันแบบถ่อยเถื่อนจนทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งต้องลาออกไป ที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นแทบทุกปี), ในที่ทำงาน-ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง, ในหน่วยงานราชการ-ระหว่างประชาชนกับข้าราชการที่มีความคิดล้าหลัง, ในห้องอาหาร-ระหว่างลูกค้าที่ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่ให้เกียรติ หรือ บนท้องถนนที่คนขับบางรายแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวพร้อมมีเรื่องกับทุกคน (ยกเว้นกับทหารและตำรวจส่วนหนึ่ง-ซึ่งพฤติกรรมสั่งสมจากอดีตทำให้คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขามีอำนาจมากกว่า)  จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงอำนาจของคนในสังคมทุกวันนี้ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข ระบบอำนาจในครอบครัว เป็นอันดับแรก                         
               
                             “เมื่อท่านแบ่งปันอำนาจอย่างสมดุลกับคนรัก อำนาจในตัวท่านจะเพิ่มขึ้น
                                      หากต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งกัน  อำนาจนั้นจะไม่เหลือให้ใครเลย
                           
                                         แล้วยังจะใช้อำนาจกันอยู่ทำไม…….กับคนที่คุณรัก

บทต่อไป ขอเชิญท่านพบกับ "กิ๊ก" ได้แล้วครับ 

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (3)


นิสัยเช่นนี้เปลี่ยนได้หรือไม่

ได้บ้าง แต่ด้วยความยากลำบาก ผู้ได้รับผลกระทบคือคู่รัก ต้องใช้ความอดทนสูงมาก ส่วนผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำต้องมีความตระหนักถึงปัญหาว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากการเรียนรู้ผิดๆในวัยเด็ก จากนั้นต้องยอมรับให้ได้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสม และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยมผิดๆเสียใหม่ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องอันจะนำความสุขกลับมาสู่ชีวิตครอบครัว หาไม่แล้วชีวิตคู่คงต้องจบลงแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าวข้างต้น
            
ขอให้ท่านพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้ แล้วถามตัวเองว่า เคยทำกับคนรักของท่านมาก่อนหรือไม่
      · ตำหนิติเตียน จับผิด พูดจาดูหมิ่นเป็นประจำ 
      · ไม่เคยให้กำลังใจเวลาคนรักทำสิ่งดีๆ หรือประสบความสำเร็จ
      · ชอบซ้ำเติมเวลาคนรักทำผิดพลาด ไม่เคยปลอบใจหรือให้กำลังใจ
      ·  ตัดสินใจแทน รู้สึกแทนอยู่เสมอ
      · ไม่ยอมรับในความสามารถของคนรัก ทั้งการแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำ
      · พยายามที่จะเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของคนรัก แต่ไม่ยอมเปลี่ยนของตนเอง เพราะคิดว่า ตนเองถูกต้องเสมอ
      · แสดงอารมณ์โกรธหรือก้าวร้าวของตนเองได้เต็มที่ แต่ไม่พอใจเวลาเห็นคนรักมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (เพราะเธอไม่มีสิทธิที่จะโกรธฉัน)
      · ทำร้ายคนรักด้วยคำพูด และการกระทำ (รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่คนรักไม่เต็มใจ)
      · ต้องการเป็นผู้ชนะหรือ เป็นฝ่ายถูกต้องในทุกๆเรื่อง
      · พูดจาเยาะเย้ยถากถาง ข่มขู่ ข่มเหงจิตใจทุกครั้งที่มีโอกาส
      · ไม่ยอมรับผิดทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองผิด ไม่เคยกล่าวคำขอโทษ
      ·  มักไม่ตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา แต่ชอบพูดจายอกย้อนวกวน กวนโทสะ
      ·  ชอบให้คำแนะนำ แต่ตัวเองไม่เคยทำได้
      ·  ปากแข็ง ไม่เคยขอความช่วยเหลือใดๆจากคนรัก แต่ใช้การออกคำสั่งแทน
      ·  มีความคาดหวังสูงว่าคนรักต้องทำสิ่งต่างๆให้ตลอดเวลา
      ·  คำว่า ขอบคุณ ไม่เคยหลุดออกจากปาก
      ·  ไม่ค่อยเอาใจคนรัก แต่ชอบให้คนรักเอาใจ
      ·  ไม่ยอมรับว่าตนเองมีลักษณะต่างๆดังกล่าวข้างต้น

ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ หากมีอยู่ในคู่รักใด ไม่ว่าจะเป็นแฟนหรือภรรยาสามีกัน จะเป็นตัวขัดขวางพัฒนาการของความรักไม่ให้เติบโตต่อไป แต่ทำให้เกิดความอึดอัดและบรรยากาศที่ตึงเครียดในครอบครัว หากปล่อยเนิ่นนานออกไป ความเครียดจะเปลี่ยนเป็นความเกลียด โกรธแค้น ชิงชัง รักจืดจางลงทุกวัน…….จนหมดรักในที่สุด  สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายแสดงอำนาจนั้น มักจะไม่มีความรักให้กับคู่รักของตนมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะความที่เป็นคนมีบุคลิกประจำตัวเช่นนั้นมาก่อน (แข็งกระด้าง หลงตัวเอง ชอบแสดงอำนาจ โดยเฉพาะกับคนที่อ่อนอแกว่า) ประกอบกับการมีความเชื่อและทัศนคติผิดๆ โดยเฉพาะเพศชายที่มักคิดว่า ผู้ชายใหญ่กว่า สำคัญกว่าผู้หญิง บุคคลประเภทนี้มักไม่ค่อยมีอารมณ์สุนทรี ไม่ชอบฟังดนตรี ไม่สนใจงานศิลปะต่างๆ ใช้สมองซีกเดียวในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สนใจหลักศาสนาและหลักปรัชญาใดๆ มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จึงทำให้พวกเขาไม่มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวถาวร ไม่ยอมเสียเปรียบ ไม่ประนีประนอม เอาแต่ใจตัวเอง อยู่ไหนมักมีคนรักน้อยกว่าคนชัง บางคนประสบความสำเร็จทางโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ชีวิตครอบครัวกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 
            
ก่อนผ่านเรื่องใหญ่นี้ไปบทอื่น ขอสรุปพฤติกรรมทั้งหมดที่หากเกิดขึ้นในวัยเด็กเล็กระหว่าง2-5 ปี อาจส่งผลกระทบกับชีวิตรักในอนาคต ดังนี้
                    1.  การไม่ยอมรับ ไม่ยอมเชื่อฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของคุณแม่คุณพ่อ หรือญาติผู้ใหญ่ เลือกใช้การต่อสู้ ต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องไห้ไม่หยุด ลงไปนอนดิ้นบนพื้น ขว้างปาข้าวของ ใช้การทำร้ายคนอื่นหรือตนเองเป็นเครื่องต่อรอง
                 ผลกระทบ  ต้องการเป็นใหญ่ในครอบครัวด้วยการแสดงอำนาจและใช้อำนาจอย่างผิดๆ เช่น ใช้กำลังทำร้ายร่างกายคนรัก (มักเป็นผู้ชาย) มีพฤติกรรมไม่สมวัย เช่น เวลาถูกขัดใจ จะข้าวปาสิ่งของ ร้องกรี๊ด ทำร้ายตัวเองหรือคนรัก (มักเป็นผู้หญิง) บรรยากาศในบ้านมีแต่ความอึดอัด ขัดแย้ง ไม่มีความสงบสุข ส่งผลเสียถึงลูกๆ
                    2.  การสมยอม  อย่างไม่เต็มใจ เก็บกดความรู้สึกและความต้องการเอาไว้ด้วยความขมขื่น ทำตัวเหมือนเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่สะสมความเคียดแค้นชิงชัง รอวันประกาศอิสรภาพ
                 ผลกระทบ  เป็นผู้ใหญ่ที่รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง หดหู่เศร้าหมองอยู่เสมอ ไม่มีความสุข เมื่อผิดหวังในรัก ก็มักเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากความทุกข์ทรมานใจ บางรายที่มีความโกรธแค้นคนรักอย่างรุนแรงก็อาจฆ่าคนรักก่อนที่จะฆ่าตัวตายตาม  
                    3 . การปรับตัว  เด็กเข้าหาผู้ใหญ่ด้วยความเต็มใจ เพราะได้รับโอกาสให้ตัดสินใจเอง เข้าใจความหวังดีและยอมรับทางเลือกอื่นๆ ไม่สูญเสียความรู้สึก  ขอบเขตแห่งความเป็นตัวตน (ego boundary) ไม่ถูกกระทบมากเกินไป
                 ผลกระทบ  เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง แต่ไม่หลงตัวเอง มีเหตุผล ควบคุมอารมณ์ได้ดี ให้เกียรติผู้อื่น มีการแบ่งปันการใช้อำนาจอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์กับคู่ครอง ครอบครัวมีความสุข

ตอนต่อไปเป็นตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทนี้ จากนั้นผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ กิ๊ก ที่คุณอาจจะอยากมีกับเขาบ้าง หรือ มีอยู่แล้วแต่เริ่มก่อเรื่องวุ่นวายจนอยากจะหนี แต่หนีไม่ออก

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (2)


จุดเริ่มต้นของอำนาจ

                       พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากแรงจูงใจ 


ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องของ อำนาจนั้น ต้องย้อนหลังไปในวัยเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ เด็กวัยนี้จะเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองมีอยู่และเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะจากคนตัวใหญ่ๆที่อยู่ด้วย เด็กๆเรียนรู้มาระยะหนึ่งแล้วว่า คนตัวใหญ่ๆแต่ใจดีจะคอยหาอะไรมาให้อยู่ตลอดเวลา  ยามหิวหรืออยากมีเพื่อนเล่น ก็เพียงส่งเสียงเรียก บางทีก็ต้องร้องไห้ดังๆนานๆ ยิ่งดังและยิ่งนานก็ยิ่งได้ผล ไม่ต้องรอนาน เวลาง่วงก็มีเสียงเพราะๆมาร้องเพลงให้ฟังจนหลับไป ตื่นขึ้นมาพวกเขาก็รออยู่ตรงหน้าแล้ว อีกสักเดี๋ยวก็เอาของอร่อยๆมาใส่ปาก แล้วก็เล่นกันใหม่ นานวันไปยิ่งรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมคนตัวโตๆที่ชื่อ แม่กับพ่อได้ แต่คนที่ชื่อ แม่ ดูจะใจดีกว่า มีเสียงเพราะกว่า และเห็นหน้าบ่อยกว่า เรียกใช้เมื่อไหร่ไม่ค่อยผิดหวัง เด็กวัยนี้จึงรู้สึกได้ถึงพลังวิเศษที่พวกเขามีอยู่ 

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ตั้งชื่ออำนาจลึกลับนี้ว่า Omnipotence ” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า อำนาจที่ยิ่งใหญ่ในจักรวาล ไม่นานนัก รู้สึกว่าคนที่ชื่อ แม่ ชักไม่ค่อยยอมทำอะไรเหมือนเมื่อก่อน ต้องร้องไห้บ่อยขึ้น เสียงดังมากขึ้น บางทีก็ต้องลงไปนอนดิ้นไปมาอยู่บนพื้นจึงจะได้ผล แต่ทำไม่กี่ครั้ง แม่ก็ไม่ค่อยจะยอมทำอะไรให้อีก แถมยังพูดอะไรฟังไม่เข้าใจ เช่น ชักจะดื้อมากไปแล้วนะ โตแล้วนะ ไม่รักแล้วนะ บางทีก็เอามือมาตีมือ ตีก้น รู้สึกเจ็บจนต้องร้องไห้อีก ไม่รู้ว่า ดื้อคืออะไร เมื่อก่อนแม่คอยเอาของมาให้เหมือนรู้ว่าอยากได้อะไร แต่เดี๋ยวนี้แม่ทำไมไม่ทำเหมือนอย่างเคย แม่เลิกรักฉันแล้วเพราะเอามือตีฉันบ่อยขึ้น พูดเสียงดังขึ้น ทำหน้าตาน่ากลัว บางวันที่ฉันร้องไห้ไม่หยุด เพราะมันหยุดไม่ได้ เวลาฉันพยายามหยุดร้องแต่หัวฉันมันก็ยังผงกกึกๆโยกหน้าโยกหลังไม่ยอมหยุด แล้วคนชื่อพ่อก็เข้ามาช่วยแม่ อุ้มฉันเข้าไปในห้องน้ำ พูดเสียงดังๆว่า ถ้าไม่หยุดร้องเดี๋ยวจะให้ตุ๊กแกมากินตับ ตุ๊กแกมันต้องกัดเจ็บแน่ๆ แล้วตับฉันมันอยู่ตรงไหนกันล่ะ ฉันร้องไห้ดังกว่าเก่าอีกเพราะกลัวตุ๊กแกมาก
                
การเลี้ยงดูเด็กแบบไทยๆ มีคำขู่ให้เด็กๆหวาดกลัวมากมาย ที่นิยมใช้กันจนกลายเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมสำหรับการเลี้ยงดูลูกมาจนถึงปัจจุบัน สามประโยคยอดนิยมคือ
·       เงียบเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวเรียกตำรวจมาจับเลย (ใช้ไม่ได้ผลกรณีที่คุณพ่อเป็นตำรวจ)
·       ดื้อนัก เดี๋ยวจับให้หมอฉีดยาเจ็บๆ (ใช้ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน ถ้าคุณแม่เป็นหมอซะเอง)
·       ถ้ายังไม่หยุดร้องเดี๋ยวแม่จะฟ้องคุณครูให้ตีเจ็บๆ
           
ทั้งคุณตำรวจ คุณหมอ และคุณครู  จึงกลายเป็นบุคคลที่น่ากลัวสำหรับคนไทยทั้งชาติตั้งแต่เล็กจนโต
               
จึงไม่น่าแปลกใจอะไร หากจะพบชายไทยวัยหนุ่ม ร่างกายกำยำ มีใบหน้าซีดเป็นไก่ต้ม เป็นลมอยู่ในห้องฉีดยาตามโรงพยาบาลต่างๆในแต่ละวัน

หรือความคิดที่เอา จ่าเฉย มายืนตากแดดอยู่ตามมุมถนนทั่วกรุงในยุคที่มนุษย์สามารถส่งยานอวกาศไปลงดาวอังคารได้แล้ว จะให้คนขับรถผวาแล้วขับไปชนกันเล่นหรืออย่างไร พยายามอ่านใจคนคิดว่า เขาต้องการให้จ่าเฉยทำอะไร ใครคิดออกช่วยบอกผมที
                
ถามลูกๆที่ไปเรียนว่า คุณครูดุไหม อยู่โรงเรียนอย่าดื้อนะ เดี๋ยวโดนครูตี ตอกย้ำกันอยู่อย่างนี้ ทุกวี่วัน เด็กไทยก็เลยกลายเป็นเด็กเงียบๆเรียบร้อย (เวลาอยู่ในห้องเรียน) คุณครูถามอะไรก็ไม่กล้าตอบ กลัวตอบผิดแล้วจะโดนคุณครูตี สร้างนิสัยไม่กล้าแสดงความคิดเห็นไปจนโต กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งไปแล้ว
                
คุณแม่คุณพ่อทั้งหลาย อย่าทำร้ายลูกของท่าน(โดยไม่รู้ตัว)เลยนะครับ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกท่านจะเลิกใช้วิธีขู่ให้เด็กๆกลัว เพราะความกลัวไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มีแต่สร้างปัญหา พวกเขาจะจดจำความรู้สึกเหล่านี้ไว้ในจิตใต้สำนึกตลอดไป  เมื่อคิดว่า สู้แม่กับพ่อไม่ได้ เขาอาจยอมท่านชั่วคราว เอาตัวรอดไว้ก่อน เปลี่ยนเป็นเล่นเกมยอมแพ้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ได้น้อยดีกว่าไม่ได้เลย ขณะเดียวกันก็กดเก็บอารมณ์โกรธเกลียดไปเรื่อยๆ รอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมักจะสุกงอมในวัยรุ่น ถึงตอนนั้นท่านเอาไม่อยู่แล้ว เพราะพวกเขาได้รับแรงขับอันทรงพลังจากฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายส่วนหนึ่งจะกลายร่างเป็นซาตานในคราบเด็กดื้อ เริ่มก่อวีรกรรมสร้างปัญหาให้ท่านเป็นระยะ รวมทั้งให้ตัวพวกเขาเองด้วย เช่น ไม่ตั้งใจเรียน กลางคืนแปลงร่างเป็นเด็กแว้น ติดยาเสพติด มั่วสุมทางเพศ ไม่เชื่อฟังใครทั้งนั้น เพราะพวกเขาได้ย้ายความโกรธเกลียด ความรู้สึกต่อต้านพ่อแม่ไปยังผู้มีอำนาจอื่นๆ รวมทั้งกฎหมายบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แล้วจะทำอย่างไรกันดี
           ป้องกันดีกว่าแก้ไขครับ  โดยเริ่มจากวัยเด็กเล็กกันเลย อย่าชะล่าใจ คิดว่ายังเล็กอยู่ ยังไม่รู้ภาษา ดื้อๆก็ปล่อยไปตามประสาเด็ก รอโตอีกหน่อยให้รู้ภาษามากกว่านี้ ถึงเวลานั้นพูดกันดีๆก็ไม่รู้ภาษาแล้ว หลักการคือ เวลาที่พวกเขาอยากได้สิ่งใดหรือต้องการทำอะไรที่ท่านไม่เห็นด้วย ท่านต้องเสนอทางเลือกในลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขหรือต่อรองเพื่อให้พวกเขามีทางออก โดยยังคงได้รับสิ่งที่ต้องการ แต่ในคุณภาพ
หรือปริมาณที่อาจน้อยกว่าที่ขอ พร้อมทั้งฝึกให้รู้จักการรอคอย หรือเสนอทางเลือกอื่นที่น่าสนใจและมีประโยชน์กว่า โดยต้องทำตั้งแต่เล็ก พูดจาสื่อสารกันพอเข้าใจเมื่อไหร่ก็เริ่มได้เลย ตัวอย่างเช่น

  • วัยเด็กเล็กประมาณ 2-4 ขวบ หากลูกขอให้ท่านเล่านิทานก่อนนอน โดยที่ท่านบังเอิญเหลือบไปเห็นของเล่นวางเกลื่อนพื้นห้อง ก็อาจจะบอกลูกว่า  " แม่กำลังรีดเสื้ออยู่ ถ้าอยากให้แม่เล่านิทานเร็วๆ ก็ต้องเก็บของเล่นเข้าที่ก่อน เดี๋ยวแม่รีดเสื้อเสร็จก็จะได้ฟังนิทานเลยนะจ๊ะ"
  •  วัย 6-10ขวบ (ประมาณประถมต้น) อยากได้เลโก้ (Lego) ของเล่นเด็กราคาทรมานใจผู้ใหญ่  ท่านก็อาจสร้างเงื่อนไขโดยใช้ผลการเรียนของลูกเป็นเครื่องต่อรอง ไม่จำเป็นต้องได้ที่ 1 หรือคะแนนสูงเกินความสามารถของเขา เป้าหมายที่สูงกว่าผลการเรียนคือ การทำให้เด็กรักการเรียนและการอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ท่านควรพาเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ เขาอยากอ่านหนังสือประเภทไหนก็ให้เขาเลือกเอง ไม่ต้องบังคับ เพราะนั่นคือ ความสนใจของเขาและเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่อยู่นอกเหนือตำราเรียน หนังสือการ์ตูนไม่ใช่ของต้องห้าม เพียงแต่ดูเนื้อหาที่เหมาะสม เป็นการให้โอกาสเขาค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ในระยะยาวท่านจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการจ้ำจี้จ้ำไชให้อ่านหนังสือ  การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของราคาแพง อาจเป็นการพาไปเที่ยวช่วงปิดเทอม ซื้อของเล่น ฯลฯ ที่สำคัญคือ ท่านต้องไม่ลืมสัญญาอย่างเด็ดขาด  เรื่องแบบนี้เด็กๆจำแม่นนัก
  •  วัย 10-15 ปี หรือวัยรุ่นตอนต้น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากได้รับการปูพื้นฐานมาดี เด็กจะมีความรับผิดชอบในตัวเอง รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรทำอะไร คุณแม่คุณพ่อทั้งหลายจึงต้องทุ่มเทเวลา และเอาใจใส่ดูแลถามทุกข์สุขของลูก ปัญหาการเรียน รวมถึงปัญหาที่ทำให้เขาไม่สบายใจอื่นๆ โดยมากมักมีเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนๆ หากมีปัญหาด้านความรักก็ไม่ควรตกใจมากนัก ซึ่งเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ควรให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ช่วงต้นๆของวัยนี้ โดยการเพิ่มรายละเอียดขึ้นตามอายุและความสนใจของเด็ก เนื้อหาสาระหลักๆได้แก่ การพูดให้ฟังว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งพวกเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องความรัก และควรมีแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ขอบเขตของพฤติกรรมที่พวกเขาทำได้ (มีแฟน-ควรพูดคุยกับลูกในลักษณะเป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่ง เพราะเรื่องแบบนี้สำหรับบางคน ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ การพูดคุยทำให้เรารู้ว่า ลูกคิดอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ เพื่อช่วยนำทางให้เขาปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม), เรื่องที่ทำไม่ได้ (มีเพศสัมพันธ์) และควรทำ (แบ่งเวลาให้เหมาะสม การเรียนต้องมาก่อนทุกเรื่อง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา)  หาไม่แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับเรื่องจริง พวกเขาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ทำให้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่สมควร


เด็กที่ผ่านการฝึกฝนการใช้เหตุผลที่ดีกับคุณแม่คุณพ่ออย่างสม่ำเสมอ จะมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องพร้อมๆไปกับความภาคภูมิใจในตนเอง ควรให้โอกาสเด็กเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอย่างมีเหตุผล อาศัยการต่อรองที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ เขาไม่รู้สึกว่าถูกอำนาจที่เหนือกว่าเพียงเพราะตัวใหญ่กว่า หรือเพราะเป็นคุณแม่ คุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณ แต่ไม่มีเหตุผลในความคิดของเขา  หาไม่แล้วสักวันหนึ่ง เขาก็อาจใช้อำนาจที่ได้จากการเรียนรู้อย่างผิดๆไปใช้กับคนอื่น ไม่เว้นแม้กับคนรักของพวกเขาเอง

ย่อหน้าต่อไปนี้ จัดให้เป็นพิเศษสำหรับท่านที่มีแฟนซึ่งชอบทำตัวเป็นเด็ก เช่น ขว้างปาข้าวของเวลาโกรธ ทำร้ายตัวเองด้วยการเอามีดกรีดข้อมือและท้องแขนเป็นรอยเท่าแมวข่วน คุณคงสงสัยและอยากหาทางแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้มานานแล้ว หรือไม่ก็กำลังคิดจะเปลี่ยนแฟนใหม่ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

                ต้องย้อนกลับไปที่วัยเด็กเล็กกันอีกครั้ง ในช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี (อาจเกิดหลังจากนี้ แต่มักมีจุดเริ่มต้นที่อายุดังกล่าว เมื่อไม่ได้รับการแก้ไข จึงมีอาการมากขึ้นและแก้ไขได้ยาก เพราะคุณแม่คุณพ่อส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายยอมแพ้ต่อมาตรการทำร้ายตนเองของลูก) ซึ่งเป็นช่วงแรกของการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ในบ้านระหว่าง คุณแม่กับคุณพ่อฝ่ายหนึ่ง และลูกอีกฝ่ายหนึ่ง ความยุ่งยากเกิดเมื่อฝ่ายลูกมีกองหนุนคือ คุณปู่คุณย่า อาม่าอากง  เด็กในวัยนี้มีความสามารถที่น่าทึ่งในการใช้ความน่ารักไร้เดียงสาของตนเองให้เกิดประโยชน์ เกมต่อรองจึงเกิดถี่ขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้นตามวัย เมื่อขอกันดีๆไม่ให้ เด็กเกิดการเรียนรู้ทีละน้อยที่จะใช้มาตรการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการวิ่งไปฟ้องผู้อาวุโสประจำบ้าน หากอรหันต์ทั้งสี่ไม่เล่นด้วย ก็ต้องใช้อาวุธลับคือ สิ่งของทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือ ขว้างออกไปยังจุดหมายที่สร้างความเสียหายมากที่สุด เห็นผลทันตา ทั้งข้าศึกและพันธมิตรร้องเสียงหลงยอมยกธงขาวทันที จากนั้น ยุทธวิธีที่คิดขึ้นได้โดยบังเอิญนี้ก็จะถูกนำออกมาใช้อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเกิดความสงบสุขในบ้านได้อย่างน่าประหลาด ตราบจนกระทั่งเด็กๆโตเป็นหนุ่มสาว เริ่มมีแฟนหรือแยกออกไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับการขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ ก็จะนึกถึงยุทธวิธีเดิมที่ไม่ได้ใช้มานานแต่ยังคงเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก เมื่อถูกนำออกมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง คราวนี้ผลที่ได้ชักไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของข้าศึก หากได้คู่ต่อกรที่กำลังพอกันก็จะเพิ่มจำนวนและราคาของอาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดอีกฝ่ายยอมยกธงขาวแต่โดยดี แต่ถ้าต้องเจอคู่ต่อสู้ที่ใช้ยุทธวิธีเดียวกันแล้วสู้ไม่ไหว ก็ต้องหันไปใช้วิธีทำร้ายตัวเอง สุดท้ายคือดับเครื่องชนให้ตายกันไปข้างหนึ่งหรือตายด้วยกัน

สาระสำคัญสำหรับตอนนี้ก็คือ 
  1. การใช้อำนาจเกิดจากการเรียนรู้จากตัวอย่างผิดๆ
  2. การอบรมเลี้ยงดูแบบสองมาตรฐานในวัยเด็กเล็ก ส่งผลเสียหายต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจของพวกเขาในระยะยาว

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (1)


Charles Darwin ได้อธิบายทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary theory) เกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural selection) ไว้ในหนังสือชื่อ The Survival of the Fittestมีเนื้อหาสำคัญคือ
                                                           
                                                                     ผู้ที่แข็งแรงกว่า คือ ผู้อยู่รอด

เราเป็นมนุษย์ และขนานนามตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่อยู่เหนือกว่าสัตว์ทุกสายพันธุ์ ด้วยคุณสมบัติพิเศษกว่าหลายประการ เช่น คุณธรรม ทำให้มนุษย์รู้จักการแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน และด้วยสมองที่ซับซ้อนกว่าจึงทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเผ่าพันธุ์ตัวเองให้ดีขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้ว่า มนุษย์จะพิสูจน์ให้เห็นมาโดยตลอดแล้วว่า สามารถอยู่รอดด้วยสมองมากกว่าการใช้กำลังก็ตาม พฤติกรรมการใช้อำนาจในรูปแบบของการแก่งแย่ง เอาเปรียบผู้อ่อนด้อยกว่า การแบ่งชนชั้น และการฆ่าฟันทำลายล้างกันอย่างโหมเหี้ยม ก็ยังคงเกิดขึ้นทุกหนแห่งในทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกับคนรักของตนเอง

2. ความรัก………….เกมแห่งอำนาจ ระหว่างคู่รัก         
      เมื่อมีใครใช้อำนาจกับเรา เราจะกลัว จากนั้นความกลัวจะเปลี่ยนเป็นความโกรธ เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น และ อยากแก้แค้น
       เมื่อมีใครทำอะไรให้เราด้วยความปรารถนาดี มีเมตตา จริงใจ ไม่หวังผลตอบแทน เราจะรัก ยกย่อง และ เทิดทูน
                                             “อำนาจ จึงไม่สามารถทำให้ใครรักใครได้                                                 

ในชีวิตรักของคนทั่วไป จุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดจากการกระทำของฝ่ายหนึ่งที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ บางครั้งเริ่มจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น นอนป่วยก็ถูกกล่าวหาว่า ขี้เกียจ สำออย ใช้คำพูดเชือดเฉือนเหน็บแนม ให้เจ็บใจ จนถึงเรื่องใหญ่ สุดคือ การนอกใจหรือการขอเลิกรา กรณีหลังนี้ฆ่ากันตายมานักต่อนัก และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การโต้เถียง ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกันอย่างรุนแรง และสุดท้ายคือทำลายล้างชีวิตกันนั้น ล้วนแต่เป็นการแสดง อำนาจอย่างหนึ่งนั่นเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ
                    
                                        1. ชนะทั้งคู่   2. แพ้ทั้งคู่  3. ฝ่ายหนึ่งแพ้ อีกฝ่ายชนะ
  •      หากลงเอยด้วยการรอมชอม สามารถปรับความเข้าใจกันได้ เริ่มต้นกันใหม่ ถือได้ว่า ชนะทั้งคู่
  •      หากต้องแยกทางกันด้วยความบอบช้ำทั้งสองฝ่ายถือว่า แพ้ทั้งคู่ แต่ถ้าจากกันด้วยความเป็นมิตร มีความเข้าใจถึงข้อ    จำกัดต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างมีความสุข มีความยินยอมพร้อมใจที่จะแยกทางกัน ยอมรับผลกระทบที่จะตามมา และให้อภัยต่อกัน ยังพอถือได้ว่า ชนะด้วยกันทั้งคู่ เพราะยังดีกว่าต้องทนอยู่ด้วยกันต่อไปโดยไม่มีความสุข
  •      ฝ่ายหนึ่งได้รับผลดีกว่าอีกฝ่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น ฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่สมปรารถนาขณะที่อีกฝ่ายเสียหายหรือรู้สึกเสียเปรียบกว่า เช่น ฝ่ายหญิงไม่ได้รับการชดเชยเงินทองที่เหมาะสมทั้งๆที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายนอกใจ ซ้ำยังต้องเป็นผู้เลี้ยงดูลูกตามลำพัง กรณีนี้อาจถือได้ว่า ฝ่ายชายเป็นผู้ชนะ ขณะที่ฝ่ายหญิงพ่ายแพ้ยับเยิน

               
เหตุใดคู่ชีวิตจำนวนไม่น้อย หรือแม้แต่คู่รักที่ยังเป็นเพียงคบหาเป็นแฟนกัน มีพฤติกรรมใช้อำนาจต่อกันทั้งๆที่พวกเขาบอกว่ารักกัน มีความลึกลับอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจหรือไม่ พวกเขาทำไปโดยเจตนา หรือไม่รู้สึกตัว สำหรับคนที่เจตนาทำเพราะคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เหตุผลรองรับคืออะไร ทำแล้วจะได้รับในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ ถ้าฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสีย จะยุติธรรมหรือไม่ ผลที่ได้รับจะยั่งยืนเพียงไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ได้รับมีความคุ้มค่ากันหรือไม่ หากผลดีมากกว่าผลเสียก็ต้องถามกันต่อไปอีกว่า ผลดีสำหรับใคร เช่นนี้แล้งคงจะเถียงกันไม่จบ

หากเราทุกคนยอมรับว่า เรารักตัวเอง หวงแหนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ต้องการทำให้ตัวเองมีความสุข เราก็ต้องตระหนักว่า คนอื่นเขาก็เป็นเช่นเรา เมื่อใดก็ตามที่มีการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงน้ำใจกันจนสุดทน ปุถุชนย่อมต้องต่อสู้ปกป้องศักดิ์ศรีของตนเองจนถึงที่สุด แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม ดัง เหตุผลที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีจิตวิญญาณเสรี
             
         ความเป็นคู่รักกัน จึงไม่เป็นข้อยกเว้นให้ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ 

สาเหตุของเกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก
                  เกิดจากความเชื่อและทัศนคติผิดๆของคู่ภรรยาสามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายที่ว่า
   “ คนที่มีอำนาจมากกว่า จะสามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ และทำให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการ หรือ
   ถ้าไม่ใช้อำนาจ ก็ไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะไม่มีใครกลัวใคร
                  ที่มาของความเชื่อและทัศนคติเช่นนี้ มาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ
              1.  การเรียนรู้อย่างผิดๆเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคนในครอบครัว
              2.  เป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ รักตัวเอง-Narcissistic Personality หรือ หลงตัวเอง-Egoistic คิดว่าตัวเองมี ความสำคัญเหนือคนอื่น จึงต้องการให้คนอื่นทำตามที่พวกเขาต้องการ
              3.  การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดเด่นที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมรับนับถือ จึงเลือกใช้วิธีการทำให้กลัว 

ยังเหลืออีก 3 ตอนครับสำหรับหัวข้อนี้ บางตอนอาจจะยาวสักหน่อย แต่เพื่อเป็นการทำให้เกิดความกระจ่างสำหรับข้อสงสัยต่างๆที่ท่านมีมานาน และยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้จากที่ไหนมาก่อน ขอเชิญติดตามดูนะครับ