วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (2)


จุดเริ่มต้นของอำนาจ

                       พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากแรงจูงใจ 


ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องของ อำนาจนั้น ต้องย้อนหลังไปในวัยเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ เด็กวัยนี้จะเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองมีอยู่และเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะจากคนตัวใหญ่ๆที่อยู่ด้วย เด็กๆเรียนรู้มาระยะหนึ่งแล้วว่า คนตัวใหญ่ๆแต่ใจดีจะคอยหาอะไรมาให้อยู่ตลอดเวลา  ยามหิวหรืออยากมีเพื่อนเล่น ก็เพียงส่งเสียงเรียก บางทีก็ต้องร้องไห้ดังๆนานๆ ยิ่งดังและยิ่งนานก็ยิ่งได้ผล ไม่ต้องรอนาน เวลาง่วงก็มีเสียงเพราะๆมาร้องเพลงให้ฟังจนหลับไป ตื่นขึ้นมาพวกเขาก็รออยู่ตรงหน้าแล้ว อีกสักเดี๋ยวก็เอาของอร่อยๆมาใส่ปาก แล้วก็เล่นกันใหม่ นานวันไปยิ่งรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมคนตัวโตๆที่ชื่อ แม่กับพ่อได้ แต่คนที่ชื่อ แม่ ดูจะใจดีกว่า มีเสียงเพราะกว่า และเห็นหน้าบ่อยกว่า เรียกใช้เมื่อไหร่ไม่ค่อยผิดหวัง เด็กวัยนี้จึงรู้สึกได้ถึงพลังวิเศษที่พวกเขามีอยู่ 

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ตั้งชื่ออำนาจลึกลับนี้ว่า Omnipotence ” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า อำนาจที่ยิ่งใหญ่ในจักรวาล ไม่นานนัก รู้สึกว่าคนที่ชื่อ แม่ ชักไม่ค่อยยอมทำอะไรเหมือนเมื่อก่อน ต้องร้องไห้บ่อยขึ้น เสียงดังมากขึ้น บางทีก็ต้องลงไปนอนดิ้นไปมาอยู่บนพื้นจึงจะได้ผล แต่ทำไม่กี่ครั้ง แม่ก็ไม่ค่อยจะยอมทำอะไรให้อีก แถมยังพูดอะไรฟังไม่เข้าใจ เช่น ชักจะดื้อมากไปแล้วนะ โตแล้วนะ ไม่รักแล้วนะ บางทีก็เอามือมาตีมือ ตีก้น รู้สึกเจ็บจนต้องร้องไห้อีก ไม่รู้ว่า ดื้อคืออะไร เมื่อก่อนแม่คอยเอาของมาให้เหมือนรู้ว่าอยากได้อะไร แต่เดี๋ยวนี้แม่ทำไมไม่ทำเหมือนอย่างเคย แม่เลิกรักฉันแล้วเพราะเอามือตีฉันบ่อยขึ้น พูดเสียงดังขึ้น ทำหน้าตาน่ากลัว บางวันที่ฉันร้องไห้ไม่หยุด เพราะมันหยุดไม่ได้ เวลาฉันพยายามหยุดร้องแต่หัวฉันมันก็ยังผงกกึกๆโยกหน้าโยกหลังไม่ยอมหยุด แล้วคนชื่อพ่อก็เข้ามาช่วยแม่ อุ้มฉันเข้าไปในห้องน้ำ พูดเสียงดังๆว่า ถ้าไม่หยุดร้องเดี๋ยวจะให้ตุ๊กแกมากินตับ ตุ๊กแกมันต้องกัดเจ็บแน่ๆ แล้วตับฉันมันอยู่ตรงไหนกันล่ะ ฉันร้องไห้ดังกว่าเก่าอีกเพราะกลัวตุ๊กแกมาก
                
การเลี้ยงดูเด็กแบบไทยๆ มีคำขู่ให้เด็กๆหวาดกลัวมากมาย ที่นิยมใช้กันจนกลายเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมสำหรับการเลี้ยงดูลูกมาจนถึงปัจจุบัน สามประโยคยอดนิยมคือ
·       เงียบเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวเรียกตำรวจมาจับเลย (ใช้ไม่ได้ผลกรณีที่คุณพ่อเป็นตำรวจ)
·       ดื้อนัก เดี๋ยวจับให้หมอฉีดยาเจ็บๆ (ใช้ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน ถ้าคุณแม่เป็นหมอซะเอง)
·       ถ้ายังไม่หยุดร้องเดี๋ยวแม่จะฟ้องคุณครูให้ตีเจ็บๆ
           
ทั้งคุณตำรวจ คุณหมอ และคุณครู  จึงกลายเป็นบุคคลที่น่ากลัวสำหรับคนไทยทั้งชาติตั้งแต่เล็กจนโต
               
จึงไม่น่าแปลกใจอะไร หากจะพบชายไทยวัยหนุ่ม ร่างกายกำยำ มีใบหน้าซีดเป็นไก่ต้ม เป็นลมอยู่ในห้องฉีดยาตามโรงพยาบาลต่างๆในแต่ละวัน

หรือความคิดที่เอา จ่าเฉย มายืนตากแดดอยู่ตามมุมถนนทั่วกรุงในยุคที่มนุษย์สามารถส่งยานอวกาศไปลงดาวอังคารได้แล้ว จะให้คนขับรถผวาแล้วขับไปชนกันเล่นหรืออย่างไร พยายามอ่านใจคนคิดว่า เขาต้องการให้จ่าเฉยทำอะไร ใครคิดออกช่วยบอกผมที
                
ถามลูกๆที่ไปเรียนว่า คุณครูดุไหม อยู่โรงเรียนอย่าดื้อนะ เดี๋ยวโดนครูตี ตอกย้ำกันอยู่อย่างนี้ ทุกวี่วัน เด็กไทยก็เลยกลายเป็นเด็กเงียบๆเรียบร้อย (เวลาอยู่ในห้องเรียน) คุณครูถามอะไรก็ไม่กล้าตอบ กลัวตอบผิดแล้วจะโดนคุณครูตี สร้างนิสัยไม่กล้าแสดงความคิดเห็นไปจนโต กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งไปแล้ว
                
คุณแม่คุณพ่อทั้งหลาย อย่าทำร้ายลูกของท่าน(โดยไม่รู้ตัว)เลยนะครับ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกท่านจะเลิกใช้วิธีขู่ให้เด็กๆกลัว เพราะความกลัวไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มีแต่สร้างปัญหา พวกเขาจะจดจำความรู้สึกเหล่านี้ไว้ในจิตใต้สำนึกตลอดไป  เมื่อคิดว่า สู้แม่กับพ่อไม่ได้ เขาอาจยอมท่านชั่วคราว เอาตัวรอดไว้ก่อน เปลี่ยนเป็นเล่นเกมยอมแพ้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ได้น้อยดีกว่าไม่ได้เลย ขณะเดียวกันก็กดเก็บอารมณ์โกรธเกลียดไปเรื่อยๆ รอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมักจะสุกงอมในวัยรุ่น ถึงตอนนั้นท่านเอาไม่อยู่แล้ว เพราะพวกเขาได้รับแรงขับอันทรงพลังจากฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายส่วนหนึ่งจะกลายร่างเป็นซาตานในคราบเด็กดื้อ เริ่มก่อวีรกรรมสร้างปัญหาให้ท่านเป็นระยะ รวมทั้งให้ตัวพวกเขาเองด้วย เช่น ไม่ตั้งใจเรียน กลางคืนแปลงร่างเป็นเด็กแว้น ติดยาเสพติด มั่วสุมทางเพศ ไม่เชื่อฟังใครทั้งนั้น เพราะพวกเขาได้ย้ายความโกรธเกลียด ความรู้สึกต่อต้านพ่อแม่ไปยังผู้มีอำนาจอื่นๆ รวมทั้งกฎหมายบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แล้วจะทำอย่างไรกันดี
           ป้องกันดีกว่าแก้ไขครับ  โดยเริ่มจากวัยเด็กเล็กกันเลย อย่าชะล่าใจ คิดว่ายังเล็กอยู่ ยังไม่รู้ภาษา ดื้อๆก็ปล่อยไปตามประสาเด็ก รอโตอีกหน่อยให้รู้ภาษามากกว่านี้ ถึงเวลานั้นพูดกันดีๆก็ไม่รู้ภาษาแล้ว หลักการคือ เวลาที่พวกเขาอยากได้สิ่งใดหรือต้องการทำอะไรที่ท่านไม่เห็นด้วย ท่านต้องเสนอทางเลือกในลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขหรือต่อรองเพื่อให้พวกเขามีทางออก โดยยังคงได้รับสิ่งที่ต้องการ แต่ในคุณภาพ
หรือปริมาณที่อาจน้อยกว่าที่ขอ พร้อมทั้งฝึกให้รู้จักการรอคอย หรือเสนอทางเลือกอื่นที่น่าสนใจและมีประโยชน์กว่า โดยต้องทำตั้งแต่เล็ก พูดจาสื่อสารกันพอเข้าใจเมื่อไหร่ก็เริ่มได้เลย ตัวอย่างเช่น

  • วัยเด็กเล็กประมาณ 2-4 ขวบ หากลูกขอให้ท่านเล่านิทานก่อนนอน โดยที่ท่านบังเอิญเหลือบไปเห็นของเล่นวางเกลื่อนพื้นห้อง ก็อาจจะบอกลูกว่า  " แม่กำลังรีดเสื้ออยู่ ถ้าอยากให้แม่เล่านิทานเร็วๆ ก็ต้องเก็บของเล่นเข้าที่ก่อน เดี๋ยวแม่รีดเสื้อเสร็จก็จะได้ฟังนิทานเลยนะจ๊ะ"
  •  วัย 6-10ขวบ (ประมาณประถมต้น) อยากได้เลโก้ (Lego) ของเล่นเด็กราคาทรมานใจผู้ใหญ่  ท่านก็อาจสร้างเงื่อนไขโดยใช้ผลการเรียนของลูกเป็นเครื่องต่อรอง ไม่จำเป็นต้องได้ที่ 1 หรือคะแนนสูงเกินความสามารถของเขา เป้าหมายที่สูงกว่าผลการเรียนคือ การทำให้เด็กรักการเรียนและการอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ท่านควรพาเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ เขาอยากอ่านหนังสือประเภทไหนก็ให้เขาเลือกเอง ไม่ต้องบังคับ เพราะนั่นคือ ความสนใจของเขาและเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่อยู่นอกเหนือตำราเรียน หนังสือการ์ตูนไม่ใช่ของต้องห้าม เพียงแต่ดูเนื้อหาที่เหมาะสม เป็นการให้โอกาสเขาค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ในระยะยาวท่านจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการจ้ำจี้จ้ำไชให้อ่านหนังสือ  การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของราคาแพง อาจเป็นการพาไปเที่ยวช่วงปิดเทอม ซื้อของเล่น ฯลฯ ที่สำคัญคือ ท่านต้องไม่ลืมสัญญาอย่างเด็ดขาด  เรื่องแบบนี้เด็กๆจำแม่นนัก
  •  วัย 10-15 ปี หรือวัยรุ่นตอนต้น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากได้รับการปูพื้นฐานมาดี เด็กจะมีความรับผิดชอบในตัวเอง รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรทำอะไร คุณแม่คุณพ่อทั้งหลายจึงต้องทุ่มเทเวลา และเอาใจใส่ดูแลถามทุกข์สุขของลูก ปัญหาการเรียน รวมถึงปัญหาที่ทำให้เขาไม่สบายใจอื่นๆ โดยมากมักมีเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนๆ หากมีปัญหาด้านความรักก็ไม่ควรตกใจมากนัก ซึ่งเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ควรให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ช่วงต้นๆของวัยนี้ โดยการเพิ่มรายละเอียดขึ้นตามอายุและความสนใจของเด็ก เนื้อหาสาระหลักๆได้แก่ การพูดให้ฟังว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งพวกเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องความรัก และควรมีแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ขอบเขตของพฤติกรรมที่พวกเขาทำได้ (มีแฟน-ควรพูดคุยกับลูกในลักษณะเป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่ง เพราะเรื่องแบบนี้สำหรับบางคน ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ การพูดคุยทำให้เรารู้ว่า ลูกคิดอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ เพื่อช่วยนำทางให้เขาปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม), เรื่องที่ทำไม่ได้ (มีเพศสัมพันธ์) และควรทำ (แบ่งเวลาให้เหมาะสม การเรียนต้องมาก่อนทุกเรื่อง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา)  หาไม่แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับเรื่องจริง พวกเขาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ทำให้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่สมควร


เด็กที่ผ่านการฝึกฝนการใช้เหตุผลที่ดีกับคุณแม่คุณพ่ออย่างสม่ำเสมอ จะมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องพร้อมๆไปกับความภาคภูมิใจในตนเอง ควรให้โอกาสเด็กเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอย่างมีเหตุผล อาศัยการต่อรองที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ เขาไม่รู้สึกว่าถูกอำนาจที่เหนือกว่าเพียงเพราะตัวใหญ่กว่า หรือเพราะเป็นคุณแม่ คุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณ แต่ไม่มีเหตุผลในความคิดของเขา  หาไม่แล้วสักวันหนึ่ง เขาก็อาจใช้อำนาจที่ได้จากการเรียนรู้อย่างผิดๆไปใช้กับคนอื่น ไม่เว้นแม้กับคนรักของพวกเขาเอง

ย่อหน้าต่อไปนี้ จัดให้เป็นพิเศษสำหรับท่านที่มีแฟนซึ่งชอบทำตัวเป็นเด็ก เช่น ขว้างปาข้าวของเวลาโกรธ ทำร้ายตัวเองด้วยการเอามีดกรีดข้อมือและท้องแขนเป็นรอยเท่าแมวข่วน คุณคงสงสัยและอยากหาทางแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้มานานแล้ว หรือไม่ก็กำลังคิดจะเปลี่ยนแฟนใหม่ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

                ต้องย้อนกลับไปที่วัยเด็กเล็กกันอีกครั้ง ในช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี (อาจเกิดหลังจากนี้ แต่มักมีจุดเริ่มต้นที่อายุดังกล่าว เมื่อไม่ได้รับการแก้ไข จึงมีอาการมากขึ้นและแก้ไขได้ยาก เพราะคุณแม่คุณพ่อส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายยอมแพ้ต่อมาตรการทำร้ายตนเองของลูก) ซึ่งเป็นช่วงแรกของการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ในบ้านระหว่าง คุณแม่กับคุณพ่อฝ่ายหนึ่ง และลูกอีกฝ่ายหนึ่ง ความยุ่งยากเกิดเมื่อฝ่ายลูกมีกองหนุนคือ คุณปู่คุณย่า อาม่าอากง  เด็กในวัยนี้มีความสามารถที่น่าทึ่งในการใช้ความน่ารักไร้เดียงสาของตนเองให้เกิดประโยชน์ เกมต่อรองจึงเกิดถี่ขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้นตามวัย เมื่อขอกันดีๆไม่ให้ เด็กเกิดการเรียนรู้ทีละน้อยที่จะใช้มาตรการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการวิ่งไปฟ้องผู้อาวุโสประจำบ้าน หากอรหันต์ทั้งสี่ไม่เล่นด้วย ก็ต้องใช้อาวุธลับคือ สิ่งของทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือ ขว้างออกไปยังจุดหมายที่สร้างความเสียหายมากที่สุด เห็นผลทันตา ทั้งข้าศึกและพันธมิตรร้องเสียงหลงยอมยกธงขาวทันที จากนั้น ยุทธวิธีที่คิดขึ้นได้โดยบังเอิญนี้ก็จะถูกนำออกมาใช้อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเกิดความสงบสุขในบ้านได้อย่างน่าประหลาด ตราบจนกระทั่งเด็กๆโตเป็นหนุ่มสาว เริ่มมีแฟนหรือแยกออกไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับการขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ ก็จะนึกถึงยุทธวิธีเดิมที่ไม่ได้ใช้มานานแต่ยังคงเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก เมื่อถูกนำออกมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง คราวนี้ผลที่ได้ชักไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของข้าศึก หากได้คู่ต่อกรที่กำลังพอกันก็จะเพิ่มจำนวนและราคาของอาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดอีกฝ่ายยอมยกธงขาวแต่โดยดี แต่ถ้าต้องเจอคู่ต่อสู้ที่ใช้ยุทธวิธีเดียวกันแล้วสู้ไม่ไหว ก็ต้องหันไปใช้วิธีทำร้ายตัวเอง สุดท้ายคือดับเครื่องชนให้ตายกันไปข้างหนึ่งหรือตายด้วยกัน

สาระสำคัญสำหรับตอนนี้ก็คือ 
  1. การใช้อำนาจเกิดจากการเรียนรู้จากตัวอย่างผิดๆ
  2. การอบรมเลี้ยงดูแบบสองมาตรฐานในวัยเด็กเล็ก ส่งผลเสียหายต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจของพวกเขาในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น: