วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (1)


Charles Darwin ได้อธิบายทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary theory) เกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural selection) ไว้ในหนังสือชื่อ The Survival of the Fittestมีเนื้อหาสำคัญคือ
                                                           
                                                                     ผู้ที่แข็งแรงกว่า คือ ผู้อยู่รอด

เราเป็นมนุษย์ และขนานนามตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่อยู่เหนือกว่าสัตว์ทุกสายพันธุ์ ด้วยคุณสมบัติพิเศษกว่าหลายประการ เช่น คุณธรรม ทำให้มนุษย์รู้จักการแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน และด้วยสมองที่ซับซ้อนกว่าจึงทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเผ่าพันธุ์ตัวเองให้ดีขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้ว่า มนุษย์จะพิสูจน์ให้เห็นมาโดยตลอดแล้วว่า สามารถอยู่รอดด้วยสมองมากกว่าการใช้กำลังก็ตาม พฤติกรรมการใช้อำนาจในรูปแบบของการแก่งแย่ง เอาเปรียบผู้อ่อนด้อยกว่า การแบ่งชนชั้น และการฆ่าฟันทำลายล้างกันอย่างโหมเหี้ยม ก็ยังคงเกิดขึ้นทุกหนแห่งในทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกับคนรักของตนเอง

2. ความรัก………….เกมแห่งอำนาจ ระหว่างคู่รัก         
      เมื่อมีใครใช้อำนาจกับเรา เราจะกลัว จากนั้นความกลัวจะเปลี่ยนเป็นความโกรธ เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น และ อยากแก้แค้น
       เมื่อมีใครทำอะไรให้เราด้วยความปรารถนาดี มีเมตตา จริงใจ ไม่หวังผลตอบแทน เราจะรัก ยกย่อง และ เทิดทูน
                                             “อำนาจ จึงไม่สามารถทำให้ใครรักใครได้                                                 

ในชีวิตรักของคนทั่วไป จุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดจากการกระทำของฝ่ายหนึ่งที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ บางครั้งเริ่มจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น นอนป่วยก็ถูกกล่าวหาว่า ขี้เกียจ สำออย ใช้คำพูดเชือดเฉือนเหน็บแนม ให้เจ็บใจ จนถึงเรื่องใหญ่ สุดคือ การนอกใจหรือการขอเลิกรา กรณีหลังนี้ฆ่ากันตายมานักต่อนัก และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การโต้เถียง ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกันอย่างรุนแรง และสุดท้ายคือทำลายล้างชีวิตกันนั้น ล้วนแต่เป็นการแสดง อำนาจอย่างหนึ่งนั่นเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ
                    
                                        1. ชนะทั้งคู่   2. แพ้ทั้งคู่  3. ฝ่ายหนึ่งแพ้ อีกฝ่ายชนะ
  •      หากลงเอยด้วยการรอมชอม สามารถปรับความเข้าใจกันได้ เริ่มต้นกันใหม่ ถือได้ว่า ชนะทั้งคู่
  •      หากต้องแยกทางกันด้วยความบอบช้ำทั้งสองฝ่ายถือว่า แพ้ทั้งคู่ แต่ถ้าจากกันด้วยความเป็นมิตร มีความเข้าใจถึงข้อ    จำกัดต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างมีความสุข มีความยินยอมพร้อมใจที่จะแยกทางกัน ยอมรับผลกระทบที่จะตามมา และให้อภัยต่อกัน ยังพอถือได้ว่า ชนะด้วยกันทั้งคู่ เพราะยังดีกว่าต้องทนอยู่ด้วยกันต่อไปโดยไม่มีความสุข
  •      ฝ่ายหนึ่งได้รับผลดีกว่าอีกฝ่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น ฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่สมปรารถนาขณะที่อีกฝ่ายเสียหายหรือรู้สึกเสียเปรียบกว่า เช่น ฝ่ายหญิงไม่ได้รับการชดเชยเงินทองที่เหมาะสมทั้งๆที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายนอกใจ ซ้ำยังต้องเป็นผู้เลี้ยงดูลูกตามลำพัง กรณีนี้อาจถือได้ว่า ฝ่ายชายเป็นผู้ชนะ ขณะที่ฝ่ายหญิงพ่ายแพ้ยับเยิน

               
เหตุใดคู่ชีวิตจำนวนไม่น้อย หรือแม้แต่คู่รักที่ยังเป็นเพียงคบหาเป็นแฟนกัน มีพฤติกรรมใช้อำนาจต่อกันทั้งๆที่พวกเขาบอกว่ารักกัน มีความลึกลับอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจหรือไม่ พวกเขาทำไปโดยเจตนา หรือไม่รู้สึกตัว สำหรับคนที่เจตนาทำเพราะคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เหตุผลรองรับคืออะไร ทำแล้วจะได้รับในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ ถ้าฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสีย จะยุติธรรมหรือไม่ ผลที่ได้รับจะยั่งยืนเพียงไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ได้รับมีความคุ้มค่ากันหรือไม่ หากผลดีมากกว่าผลเสียก็ต้องถามกันต่อไปอีกว่า ผลดีสำหรับใคร เช่นนี้แล้งคงจะเถียงกันไม่จบ

หากเราทุกคนยอมรับว่า เรารักตัวเอง หวงแหนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ต้องการทำให้ตัวเองมีความสุข เราก็ต้องตระหนักว่า คนอื่นเขาก็เป็นเช่นเรา เมื่อใดก็ตามที่มีการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงน้ำใจกันจนสุดทน ปุถุชนย่อมต้องต่อสู้ปกป้องศักดิ์ศรีของตนเองจนถึงที่สุด แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม ดัง เหตุผลที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีจิตวิญญาณเสรี
             
         ความเป็นคู่รักกัน จึงไม่เป็นข้อยกเว้นให้ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ 

สาเหตุของเกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก
                  เกิดจากความเชื่อและทัศนคติผิดๆของคู่ภรรยาสามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายที่ว่า
   “ คนที่มีอำนาจมากกว่า จะสามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ และทำให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการ หรือ
   ถ้าไม่ใช้อำนาจ ก็ไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะไม่มีใครกลัวใคร
                  ที่มาของความเชื่อและทัศนคติเช่นนี้ มาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ
              1.  การเรียนรู้อย่างผิดๆเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคนในครอบครัว
              2.  เป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ รักตัวเอง-Narcissistic Personality หรือ หลงตัวเอง-Egoistic คิดว่าตัวเองมี ความสำคัญเหนือคนอื่น จึงต้องการให้คนอื่นทำตามที่พวกเขาต้องการ
              3.  การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดเด่นที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมรับนับถือ จึงเลือกใช้วิธีการทำให้กลัว 

ยังเหลืออีก 3 ตอนครับสำหรับหัวข้อนี้ บางตอนอาจจะยาวสักหน่อย แต่เพื่อเป็นการทำให้เกิดความกระจ่างสำหรับข้อสงสัยต่างๆที่ท่านมีมานาน และยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้จากที่ไหนมาก่อน ขอเชิญติดตามดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: