วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (5)


How on earth are you ever going to explain in terms of chemistry and physics so important a biological phenomenon as love?
                                                                          Albert Einstein

ความรักเป็นเรื่องของสารเคมี………..แค่นั้นหรือ

คำถามนี้อาจทำให้หลายคนหงุดหงิด รวมทั้งไอน์สไตน์ด้วย บางคนอาจรับไม่ได้เอาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความสุข สมหวังกับความรักหลังจากพากเพียรพยายาม อดทน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาอย่างแสนสาหัส แต่ไม่เหลือความภาคภูมิใจให้บ้างเลย กลับไปยกความดีความชอบทั้งหมดให้สารเคมีซึ่งไม่มีชีวิตและความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น  สำหรับคนอกหักอาจรู้สึกผ่อนคลายขึ้นบ้างจนแอบชอบใจหัวเราะหึๆ  เพราะสามารถยกความผิดพลาดทั้งหมดให้กับเจ้าสารเคมีพวกนั้นไป พร้อมรำพันในใจว่า  เป็นเพราะพวกแกแท้ๆที่ไม่ประสานงานกันให้ดี ข้าถึงได้ชอกช้ำระกำทรวงถึงเพียงนี้
            
หากมาทบทวนด้วยการลำดับเหตุการณ์ดูอีกสักครั้งให้ปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว  ก็อาจทำให้หลายคนยอมรับความจริงอันขัดแย้งนี้ได้บ้าง  ลองมาดูกันนะครับ 

ลำดับเหตุการณ์ของความรักอันสัมพันธ์กับการหลั่งสารเคมี
                
              ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือการคลุมถุงชน ความรักก็ต้องเริ่มจากการมองเห็นก่อน ภาพที่มองเห็นจะถูกส่งผ่านทะลุทะลวงไปหลายด่านอย่างรวดเร็วสู่สมองส่วนแปรผล  เมื่อแปรออกมาว่า หล่อ สวย หุ่นดี มีเสน่ห์ เท่ห์ น่ารัก ดูดีไปหมด สมองก็จะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ตัวแรกคือ เจ้า PEA นั่นเอง ทำให้เรารู้สึกมีความสุข พึงพอใจ ชอบใจ แอบรักเล็กๆ เพราะมันคือ love drug ไงครับ เสริมด้วยฤทธิ์ของ  Endorphin ที่หลั่งรินตามมาติดๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย  มีชีวิตชีวา อยากเข้าไปทำความรู้จักแบบกล้าๆกลัวๆ หัวใจเริ่มเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้นเพราะความคิดที่จะทำเช่นนั้นมันไปกระตุ้นสมองอีกส่วนหนึ่งให้หลั่งสารออกมาอีกชุดใหญ่คือ เจ้า Dopamine ทำให้รู้สึกเป็นสุขอย่างมาก ตามด้วย  Adrenaline และ Norepinephrine  ซึ่งจะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น แรงขึ้น หายใจถี่ขึ้น  เกิดอาการตื่นเต้น  ดูลุกลี้ลุกลน สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ นักวิจัยเขาพบว่า  เพศชายจะมีการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นทางกายภาพได้ง่ายกว่าเพศหญิง โดยอ้างว่า เพศชายมีธรรมชาติของการรับรู้ในเรื่องภาพได้ดีกว่าเพศหญิง  จากนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ สารตัวต่อไปที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาคือ Serotonin ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย  ถึงตอนนี้ประตูแห่งความไว้วางใจเริ่มเปิดแย้มออกแล้ว  ถ้าคุณเลือกที่จะเดินหน้าด้วยการคบกับคนๆนั้นต่อไป ปฏิกิริยาทางเคมีก็จะทำหน้าที่ช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปได้  เมื่อคุณทั้งสองคบหากัน  ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ความคุ้นเคยก็จะเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้สารเคมีที่ถูกกระตุ้นออกมาคือ Oxytocin ซึ่งจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจากการสัมผัสผิวกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกอด การจูบ ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันต่อกันมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อความสัมพันธ์มีความลึกซึ้งจนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ละครั้งที่ถึงจุดสุดยอดทางเพศ (orgasm) สมองจะหลั่ง Oxytocin ออกมาในปริมาณมากที่สุด  ทำให้เกิดความผูกพันกันอย่างเปี่ยมล้นระคนไปด้วยความสุขและผ่อนคลายสุดๆ  สารเคมีอีกตัวหนึ่งที่หลั่งออกมาขณะถึงจุดสุดยอดคือ Vasopressin โดยเฉพาะในเพศชาย  สารตัวนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างความทรงจำนอกเหนือจากความรู้สึกผูกพันทางใจ มันจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นสารที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเภท ผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) 

ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความเร็วดุจแสง  จากการทำงานประสานกันของเซลนับล้านและเส้นใยประสาทในสมองหลายส่วนกลับไปกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์  แต่ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าเพียงไร มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้ทุกขั้นตอน
                     
เรื่องน่าเศร้าก็คือ เมื่อปฏิกิริยาของสารเคมีเหล่านี้ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง  จากการศึกษาพบว่าอยู่ระหว่าง 18 เดือน ถึง 4 ปี คือต่อจากช่วง Romantic love (6-18 เดือน) จากนั้นสมองจะเริ่มดื้อต่อสารเคมีดังกล่าว ความตื่นเต้นหวาดเสียว ความน่าท้าทาย น่าค้นหาเริ่มจืดจางลง ทุกอย่างดูซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย เหมือนโลกหยุดหมุน หากทั้งสองฝ่ายไม่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดหมายใหม่ของชีวิตที่ใหญ่กว่าเดิมมาเติมเต็มแล้วละก็ ชีวิตคู่ของพวกเขาย่อมตกอยู่ในอันตราย นี่จึงเป็นที่มาของสถิติหย่าร้างสูงสุดในปีที่ 4 ไม่ใช่ปีที่ 7 (seventh year’s itch) อย่างที่เคยเข้าใจกัน

บทต่อไปขอเข้าสู่เรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นอีก…………ความเข้ากันได้ !

สารเคมีแห่งรัก (4)


4.  วาโซเพรสซิน (Vasopressin)
เป็นสารเคมีที่หลั่งออกจากสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) แล้วถูกลำเลียงไปสร้างเป็นฮอร์โมนเต็มตัวที่สมองส่วน pituitary มีฤทธิ์ยับยั้งการขับปัสสาวะของไต ขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่อความรักและความรู้สึกผูกพันในระยะยาวด้วย จะถูกหลั่งออกมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสองเพศ

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผลของฮอร์โมนตัวนี้ที่มีต่อสัมพันธภาพระยะยาวโดยทำการทดลองในหนู Prairie voles ซึ่งได้กล่าวไว้ในบทก่อนว่าโดยธรรมชาติของมันจะมีคู่ครองเพียงตัวเดียว (monogamy) ปกติมันจะมีการร่วมเพศกับคู่ของมันถี่มาก ตัวผู้จะมีพฤติกรรมปกป้องตัวเมียเวลามีตัวผู้อื่นมารบกวน เมื่อตัวผู้ได้รับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของ Vasopressin ความรู้สึกผูกพันต่อคู่ของมันจะยุติลงทันที ไม่มีพฤติกรรมหวงคู่ของมันและไม่พยายามที่จะปกป้องคู่ของมันจากตัวผู้อื่นอีกต่อไป แต่จะไปร่วมเพศกับตัวเมียอื่นๆเรื่อยไปเช่นเดียวกับสัตว์ส่วนใหญ่   
  
5. เซโรโทนิน (Serotonin)
                    
เป็นสารเคมีที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง สร้างขึ้นที่สมองส่วนกลาง (mid brain) และ ก้านสมอง (brain stem) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ความปรารถนาทางเพศ (sexual desire) ความรู้สึกพึงพอใจและสุขใจอย่างมากหลังบรรลุจุดสุดยอดทางเพศ โดยมีการทำงานประสานกับ dopamine อย่างใกล้ชิด
             
เนื่องจากมีการค้นพบก่อนหน้านี้ว่า ในผู้ป่วยโรคประสาทชนิด ย้ำคิดย้ำทำ มีระดับสารตัวนี้ในสมองน้อยกว่าปกติ ประกอบกับคนที่กำลังตกหลุมรักในช่วงต้นๆมักมีอาการย้ำคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า คนสองกลุ่มนี้มีกระบวนการทำงานของสมองที่คล้ายคลึงกันหรือไม่ เพราะมีความหมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งมีแรงผลักดันให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อตอบสนองแรงผลักดันนั้น หากไม่สามารถทำได้จะเกิดความตึงเครียดสูง  กระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข เมื่อได้ทำสิ่งนั้นลงไปก็จะเกิดความสุข ปลอดโปร่งโล่งใจ  แต่จากนั้นไม่นานก็จะเกิดแรงปรารถนาที่จะกระทำเรื่องเดิมนั้นอีก เป็นการกระทำซ้ำๆเช่นนี้เรื่อยไป  การทดลองที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจนกระทำโดย Dr. Donatella Marazzati จิตแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัย Pisa ประเทศ อิตาลี โดยการเจาะเลือดในคู่รักใหม่ที่เพิ่งมีความรักกันมาไม่เกิน 6 เดือน พบว่า ระดับสาร Serotonin ในเลือดของพวกเขามีระดับต่ำกว่าปกติ และอยู่ในระดับพอๆกับที่พบในผู้ป่วยโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ University College London ประเทศอังกฤษ  การค้นพบนี้จึงเป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมคนที่กำลังมีความรัก จึงมีพฤติกรรมย้ำคิดถึงแต่คนรัก และย้ำทำ คืออยากไปพบ พูดคุยกัน มีกิจกรรมต่างๆด้วยกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
6. อะดรีนาลีน (Adrenaline)

ผลิตและหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต เข้าสู่กระแสเลือดแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย  เป็นสารนำกระแสประสาทที่มีบทบาทกว้างขวางมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวและมีการรับรู้ต่อสิ่งเร้าต่างๆ  มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้นในบางสภาวะ เช่น ขณะตื่นเต้น ตกใจ กลัว วิตกกังวล เครียด ประหม่า สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงรัก หรือแอบหลงรักใครสักคนในระยะแรกๆ เมื่อเข้าใกล้คนที่แอบรักจะเกิดอาการตื่นเต้น ประหม่า กลัวๆกล้าๆ ก็จะเกิดอาการต่างๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการกระตุ้นการหลั่งสารตัวนี้ออกมามากขึ้นในภาวะเครียดนั่นเอง   
    
7. เอนดอร์ฟิน (Endorphin)
             
เป็นสารนำกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุขและมีบทบาทสำคัญมากอีกตัวหนึ่ง  สร้างขึ้นที่สมองบริเวณ Hypothalamus แล้วส่งต่อไปที่ต่อมใต้สมองที่ชื่อว่า pituitary gland เช่นเดียวกับอีกหลายๆตัว คำว่า endorphin มาจากการผสมคำ 2 คำ คือ endogenous ซึ่งแปลว่า จากภายใน และ Morphine ซึ่งเป็นยาแก้ปวดอย่างแรง และมีฤทธิ์เสพติดได้ง่าย  รวมความหมายก็คือ สารมอร์ฟีนที่ผลิตจากภายในร่างกายเอง ที่ตั้งชื่อเช่นนี้เพราะว่า สาร Endorphin ตัวนี้ มีฤทธิ์คล้ายๆกับยา Morphine ที่ใช้เป็นยาแก้ปวดอย่างแรงและ ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุขอย่างมาก ในภาวะที่ร่างกายของคนเรามีการกระทำบางอย่าง เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา มีเพศสัมพันธ์ สิ่งเร้าต่างๆที่ส่งผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า (ตา, หู, จมูก, ปาก/ลิ้น, ผิวกาย) หรือภาวะเจ็บปวดทางร่างกายจากสาเหตุต่างๆ จะกระตุ้นให้สมองผลิตและหลั่งสารตัวนี้ออกมามากขึ้น ซึ่งมันจะไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสุขอีกต่อหนึ่ง เราจึงรู้สึกมีความสุข ทั้งขณะและหลังการมีกิจกรรมต่างๆดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความสุขจากการกระทำในสิ่งที่ชอบ เช่น การได้อยู่กับคนรัก การเล่นและฟังดนตรี การทำงานอดิเรก การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จึงมีความสุขจากสาร Endorphin อยู่เสมอๆ   ครั้นพอไม่มีกิจกรรมดังกล่าวก็จะเกิดอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย หรืออารมณ์เสียได้ง่ายกว่าปกติเพราะขาดสารตัวนี้ คล้ายกับคนที่ติดสารเสพติด เพียงแต่มีอาการน้อยกว่ากันมาก
          
ในตอนหน้าจะเป็นบทสรุปเกี่ยวกับการทำงานของสารเคมีแห่งรักทุกตัว เพื่อให้เห็นเป็นภาพต่อเนื่องและเกิดความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้างในกระบวนความรักทั้งหมด             

สารเคมีแห่งรัก (3)


3. อ็อกซี่โตซิน (Oxytocin)
               
สารตัวนี้สร้างโดยสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) แล้วส่งต่อไปยังต่อมพิทิวอิทารี่ (pituitary) ส่วนหลัง นักวิชาการให้ฉายาสารตัวนี้ว่า  ฮอร์โมนแม่ เพราะพบปริมาณมากในระยะแม่ให้นมลูก เมื่อลูกดูดนมแม่ จะเกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทที่หัวนมไปยังต่อม pituitary ให้หลั่งสารตัวนี้ออกมา สารตัวนี้จะไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น  

การทดลองหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงอิทธิพลของฮอร์โมน Oxytocin ต่อความรู้สึกรัก ผูกพัน และหวงแหนลูกน้อยของผู้เป็นแม่ กระทำโดย Dr. Diane Witt นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Binghamton รัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ในแม่แกะและแม่หนู พบว่า พวกมันจะมีพฤติกรรมปฏิเสธลูกของพวกมันเอง ในทางกลับกัน เมื่อฉีดฮอร์โมนนี้ให้กับหนูตัวเมียซึ่งไม่เคยผสมพันธุ์กับตัวผู้เลย กลับทำให้พวกมันวิ่งเข้าไปหาลูกหนูของแม่ตัวอื่น พร้อมทั้งแสดงอาการรักใคร่และนอนซบอย่างมีความสุข พร้อมทั้งมีท่าทีปกป้องเสมือนหนึ่งเป็นลูกของพวกมัน
              
ในช่วงทศวรรษที่ 70 มีการค้นคว้าทดลองมากขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของ Oxytocin พบว่า มันเป็นยิ่งกว่าฮอร์โมน แต่ยังเป็นสารนำกระแสประสาท (Neurotransmitters) ที่มีบทบาทเกี่ยวกับพฤติกรรมสำคัญ 2 ประการของคนเราคือ
               1. การร่วมกิจกรรมทางสังคม
               2. การมีเพศสัมพันธ์

ขณะที่คนเรามีพฤติกรรมทั้งสองอย่างนี้ สมองส่วนที่เรียกว่า Hypothalamus จะหลั่ง Oxytocin ออกมามากขึ้น และจะไปกระตุ้นสมองส่วนควบคุมอารมณ์คือ Limbic system ทำให้รู้สึกเป็นสุข และเกิดความรักใคร่ผูกพัน เมื่อมีกิจกรรมเหล่านี้ซ้ำๆก็จะเกิดความคุ้นเคย ความไว้วางใจ ความเป็นมิตร รักหมู่คณะ รักเผ่าพันธุ์ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว จากคุณสมบัติที่โดดเด่นนี้มันจึงได้รับอีกฉายาหนึ่งว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งรัก” (Love Hormone) และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดมนุษย์ (ซึ่งน่าจะรวมถึงสัตว์ด้วย) มีความต้องการพฤติกรรมทั้งสองนี้อย่างสม่ำเสมอ เวลาใดที่ขาดมัน เราจึงรู้สึกซึมเศร้าเหงาหงอยและหงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อพิสูจน์ถึงคุณสมบัติในเรื่องความไว้วางใจ ความเป็นมิตร จิตใจเอื้ออารี ฯลฯ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงได้ทำการศึกษาโดยการทดลองฉีดฮอร์โมนตัวนี้ให้กับผู้ถูกทดลองในสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการลงทุนทำธุรกิจร่วมกับผู้อื่น พบว่า ผู้ถูกทดลองมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความรู้สึกที่ดีและไว้วางใจที่จะร่วมกิจกรรมการลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงกับคนแปลกหน้าอย่างง่ายดายเกินระดับปกติ   

สำหรับบทบาทในเรื่องเพศสัมพันธ์นั้น นักวิจัยพบว่า ฮอร์โมนตัวนี้ยังผลิตที่รังไข่และลูกอัณฑะ ในขณะมีเพศสัมพันธ์และมีการกอดจูบลูบไล้และกระตุ้นจุดต่างๆของร่างกายระหว่างคู่รักนั้น สมองจะหลั่งสารตัวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมากที่สุดในขณะถึงจุดสุดยอดทางเพศ (Orgasm) ทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานทั้งสองเพศ และเกิดความรู้สึกเป็นสุขอย่างที่สุด (Elation หรือ Exaltation) มีความรักใคร่ผูกพันเพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้น และรู้สึกผ่อนคลายอย่างมาก

นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อ Dr. C.Sue Carter ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับบทบาทของ Oxytocin ไว้โดยทำการศึกษาในสัตว์ตระกูลหนู 2 สายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน กล่าวคือมียีนส์เหมือนกันถึง 99 %  คือ Prairie voles และ Montane voles แต่กลับมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องพฤติกรรมการผสมพันธุ์ กล่าวคือ Prairie voles เป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงลูก ในขณะที่ Montane voles ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามหลายตัว และตัวผู้ไม่มีบทบาทในการเลี้ยงลูกเลย  Carter พบว่า Prairie voles ตัวเมียมีปริมาณเซลสมองที่เป็นตัวรับการกระตุ้นจาก Oxytocin (Oxytocin receptor) บริเวณสมองส่วนควบคุมอารมณ์แห่งความสุข (Pleasure center) เป็นจำนวนมาก ส่วนตัวผู้มีทั้ง Oxytocin และ Vasopressin receptor จำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ Montane voles มี Oxytocin และ Vasopressin receptors ในจำนวนที่น้อยกว่ามากๆ เขายังได้ทำการทดลองต่อไปโดยยับยั้งการทำงานของ Oxytocin receptor ในหนู Prairie พบว่า มันไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ตามปกติได้ แต่จะหยุดดูแลลูกๆของมัน และสูญเสียความจำต่อสมาชิกในครอบครัวตลอดจนถึงเผ่าพันธุ์เดียวกันอีกด้วย Carter สรุปว่า Oxytocin จำนวนมากกว่าที่หลั่งออกจากสมองในขณะผสมพันธุ์ทำให้หนู Prairie เกิดความรู้สึกผูกพันต่อกันได้มากกว่าและยังช่วยให้พวกมันมีความสุขมากขึ้นทุกครั้งที่อยู่ด้วยกัน                 

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปบทบาทหน้าที่ของ Oxytocin ต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญได้ 3 ประการคือ
1.  ทำให้เกิดความรักและความผูกพันทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งระหว่างคู่รัก
2.  ทำให้เกิดความรักและความผูกพันอย่างมากของแม่ที่มีต่อลูก ที่เรามักพูดกันติดปากว่า สัญชาติญาณแม่
3.  ทำให้มนุษย์มีความปรารถนาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขอันเกิดจากความรัก ความผูกพันและความไว้วางใจต่อกัน

มาถึงตรงนี้ ท่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า โดยธรรมชาติแล้ว คนเราเป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียวหรือไม่ ผมไม่สามารถตอบได้ครับ เพราะมันคล้ายๆกับคำถามที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อหรือกินพืช เพราะคนที่ชอบแบบหนึ่งก็มักจะหาเหตุผลมายืนยันความเชื่อของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องความรักแล้ว ผมคิดว่าคนปกติทั่วไปเวลาถึงวัยที่อยากจะมีคนรักนั้น คงไม่มีใครที่ตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า จะมีคนรักหลายๆคน คนรักในที่นี้หมายถึงคู่ครองนะครับ ไม่เกี่ยวกับกรณีรักเผื่อเลือกในกรณีที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต่อเมื่อได้ตัดสินใจเลือกแล้ว ก็คงไม่มีใครคิดล่วงหน้าไปว่าจะมีเพิ่มอีกอย่างแน่นอน ขอย้ำนะครับว่า คนที่ปกติโดยทั่วไป  

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะนำเอาความรู้ในเรื่องนี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมและจรรโลงความรักของเรากับคนรักให้ยั่งยืนตลอดไป ในที่นี้จึงขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้ทดลองพฤติกรรมใหม่ๆที่อาจช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารตัวนี้ออกมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น 

·       สบตากัน กล่าวถ้อยคำล่ำลา กอดกัน  ก่อนออกจากบ้านและเมื่อเข้าบ้านทุกวัน 
·       กล่าวถ้อยคำไพเราะต่อกันเสมอๆ
·       นวดร่างกายให้กันบ้างเมื่อมีโอกาส
·       รำลึกถึง พูดถึงเหตุการณ์แห่งความหลังที่มีความสุขร่วมกันมา
·       ดูภาพถ่ายในอดีตด้วยกัน
·       ไปเที่ยวด้วยกันเป็นครั้งคราว ระยะทางใกล้ ไกลไม่ใช่เรื่องสำคัญ
·       มีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ ไม่ต้องถี่  แต่มีคุณภาพ
·       ทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสบ้าง เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนเอง
·       ฯลฯ
             
สารเคมีที่จะพูดถึงเป็นตัวต่อไปคือ วาโซเพรสซิน (Vasopressin) และ เซโรโทนิน (Serotonin)


วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (2)


   2. โดปามีน (Dopamine)

เป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง พบที่สมองหลายส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เวลาที่สมองมีสารตัวนี้สูงขึ้นเราจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้น มีสมาธิดี ความจำระยะสั้นดีรู้สึกกระฉับกระเฉง มีพละกำลังมาก มีความคิดแน่วแน่ มุ่งมั่น ไม่รู้สึกหิว ไม่ง่วงนอน และมีความต้องการทางเพศสูง

ได้มีการทดลองในคนที่กำลังมีความรักในระยะเริ่มต้น โดยให้พวกเขามองดูภาพถ่ายของคนรักแล้วตรวจการทำงานของสมองด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Functional MRI (Magnetic Resonance Image) พบว่า สมองบริเวณดังกล่าวมีการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับที่เกิดขึ้นในสมองของผู้เสพสารเสพติดประเภทกระตุ้นสมอง เช่น โคเคน แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ยาอี ยาไอซ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนที่กำลังมีความรักมีความต้องการที่จะเห็นหน้าและอยู่ใกล้ชิดกับคนรักตลอดเวลา เพราะสิ่งเร้าต่างๆจากคนรักจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีนออกมาเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดความสุขอย่างมาก เมื่อจำต้องแยกจากกันก็จะเกิดความทุกข์ใจ หงุดหงิด กระวนกระวาย หงอยเหงา ไม่มีชีวิตชีวา เพราะสารตัวนี้มีปริมาณลดลง เกิดความอยากที่จะเห็นหน้ากันและอยู่ด้วยกันอีกกลายเป็นวงจรเสพติดความสุขเฉกเช่นเดียวกับคนติดยา เพียงแต่เปลี่ยนจากยาเสพติดมาเป็นคน ในรายที่มีอาการเสพติดคนรักมากๆแล้วไม่ได้รับรักตอบจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเริ่มมีอาการของคนขาดรักมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สามารถหาทางออกได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา อาการขาดรักจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงขีดสูงสุดจนสามารถทำให้ผู้นั้นเกิดอาการหดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เบื่อชีวิต เริ่มคิดสั้น และจบลงด้วยการฆ่าตัวตายได้

ตามที่ได้เคยพูดถึงความรักระยะโรแมนติคในบทก่อนๆว่าจะยืนยาวได้เพียง 6-18 เดือนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาดังกล่าว สิ่งเร้าเดิมๆจะเริ่มอ่อนกำลังลงจนไม่สามารถกระตุ้นสมองของเราให้หลั่งสารโดปามีนออกมาในปริมาณเท่าเดิม หรือ อาจเป็นเพราะสมองเกิดอาการดื้อโดปามีน จึงทำให้ความรู้สึกรักจนหลง รวมทั้งความรู้สึกตื่นเต้นแบบช่วงแรกๆลดความรุนแรงลง ความรู้สึกรวมๆในแบบคนรักจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะมีความรู้สึกใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นก็คือ ความรู้สึกผูกพันและความรับผิดชอบ มีความต้องการที่จะอยู่กันในแบบคู่ชีวิตไปตลอด ในกรณีที่คู่รักทั้งสองไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีพอ หรือที่เรามักพูดว่า ไม่ใช่เนื้อคู่กัน ก็อาจเป็นเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาว่าพวกเขาจะอยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะกันไปในลักษณะเดิมๆด้วยความหวัง (ลมๆแล้งๆ) ที่ว่า สักวันหนึ่งอีกฝ่ายจะเข้าใจตนเอง หรือจะแยกทางกัน หากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการตรงกันว่าอยากแยกทางกัน เรื่องราวคงจบลงด้วยดี แต่หากฝ่ายหนึ่งต้องการเลิกแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ก็มักจบลงด้วยความเศร้าหรือความยุ่งยากมากมาย
ในที่นี้จะขอพูดถึงกรณีที่ความรักมีการพัฒนาไปสู่ขั้นสูงขึ้น ซึ่งต้องการสารเคมีตัวอื่นมารับช่วงปฏิบัติภารกิจต่อไป สารตัวนั้นก็คือ………..ออกซี่โตซิน (Oxytocin)

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (1)


ทำไม…..คนเราจึงมีความสุขเมื่ออยู่ในอารมณ์รัก
และจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น……….หากสมหวังในรักนั้น
มีอะไรเกิดขึ้นในร่างกายของเราในห้วงแห่งรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมอง
และที่สำคัญกว่านั้นคือ เราสามารถควบคุม อารมณ์รัก ของเราเองได้หรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่ทรงพลังของความรักมานานแสนนาน จนกระทั่งเมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเครื่องมือมีมากขึ้นในระยะ 30 กว่าปีมานี้เองที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆอย่างมากมาย

รู้แม้กระทั่งว่า ในยามที่เรามีอารมณ์รักนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นที่สมองส่วนไหนบ้าง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและตรวจวัดได้เหล่านั้นก็คือ สารเคมี ที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่พวกมันถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาในปริมาณมากกว่าปกติเมื่อมีตัวกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น ภาพหญิงสาวสวยหุ่นดี หรือ ภาพชายหนุ่มรูปงาม รวมทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่น จินตนาการจากการอ่านนวนิยายรักแนวโรแมนติกและอีโรติกทั้งหลาย

ไม่น่าเชื่อว่า สารเคมีในสมองที่มีการค้นพบแล้วถึงปัจจุบัน (..2010) มีกว่า 300 ตัว แต่มีการสรุปหน้าที่ได้อย่างชัดเจนแล้วไม่ถึง 100 ตัว ในจำนวนนี้มีอยู่หลายตัวทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์รัก ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึงตัวที่โดดเด่นจริงๆเพียง 7 ตัว ดังนี้

       1. สาร PEA (Phenyl-ethyl-amine)

นักวิชาการให้ฉายาสารเคมีตัวนี้ว่าเป็น  แอมเฟตามีนธรรมชาติ  เพราะมันมีฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ทำให้คนเรามีความสุข เมื่อไรก็ตามที่เราพบใครสักคนที่ดูน่ารัก มีเสน่ห์จนน่าหลงใหล สมองบริเวณด้านหน้าที่เรียกว่า Orbitofrontal cortex (OFC) ซึ่งอยู่บริเวณหลังกระบอกตาจะถูกกระตุ้นให้หลั่งสาร PEA นี้ออกมาแล้วไหลเวียนเข้ากระแสเลือดไปยังส่วนต่างๆทั่วร่างกาย เกิดความกระชุ่มกระชวยมีพละกำลัง แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวซ่านทั้งตัว หัวใจเต้นแรง หายใจถี่ขึ้น ม่านตาขยาย ใบหน้าร้อนผ่าว รู้สึกประหม่า เหงื่อออก ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะเดียวกันจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขอย่างมากจนเกินกว่าคำพูดใดๆจะบรรยายได้ ในระหว่างที่ความรักกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นคือกำลังจีบกันนั้น สารตัวนี้จะถูกกระตุ้นออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความตื่นเต้นระคนกับความสุข ต่างฝ่ายต่างมีแรงจูงใจให้มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่นพูดคุยกัน อยู่ใกล้ชิดกันให้มากที่สุด ยาวนานที่สุด

น่าเสียดายที่สุดเช่นกัน…………..เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งระดับของสารตัวนี้จะค่อยๆลดลงจนทำให้เริ่มรู้สึกหงอยเหงาจับใจ ไม่สดชื่นร่าเริงเหมือนเดิม บางคนถึงขนาดไม่ยอมพูดจากับใคร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมดเรี่ยวแรง ครุ่นคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้พบกันคราใดก็กลับมีความสุขอีก วงจรแห่งความสุขเช่นนี้จะดำเนินไปสักระยะหนึ่งจนกระทั่งสมองเกิดอาการดื้อสารเคมีของตัวเอง ต้องการสารตัวใหม่ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม ซึ่งกลไกเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับอาการที่เกิดขึ้นในคนติดยาเสพติดที่ต้องเสพสารตัวเดิมในปริมาณเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนไปเสพสารตัวอื่นที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม
สารที่จะพูดถึงตัวต่อไปคือ……………..โดปามีน(Dopamine)