วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (1)


ทำไม…..คนเราจึงมีความสุขเมื่ออยู่ในอารมณ์รัก
และจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น……….หากสมหวังในรักนั้น
มีอะไรเกิดขึ้นในร่างกายของเราในห้วงแห่งรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมอง
และที่สำคัญกว่านั้นคือ เราสามารถควบคุม อารมณ์รัก ของเราเองได้หรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่ทรงพลังของความรักมานานแสนนาน จนกระทั่งเมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเครื่องมือมีมากขึ้นในระยะ 30 กว่าปีมานี้เองที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆอย่างมากมาย

รู้แม้กระทั่งว่า ในยามที่เรามีอารมณ์รักนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นที่สมองส่วนไหนบ้าง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและตรวจวัดได้เหล่านั้นก็คือ สารเคมี ที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่พวกมันถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาในปริมาณมากกว่าปกติเมื่อมีตัวกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น ภาพหญิงสาวสวยหุ่นดี หรือ ภาพชายหนุ่มรูปงาม รวมทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่น จินตนาการจากการอ่านนวนิยายรักแนวโรแมนติกและอีโรติกทั้งหลาย

ไม่น่าเชื่อว่า สารเคมีในสมองที่มีการค้นพบแล้วถึงปัจจุบัน (..2010) มีกว่า 300 ตัว แต่มีการสรุปหน้าที่ได้อย่างชัดเจนแล้วไม่ถึง 100 ตัว ในจำนวนนี้มีอยู่หลายตัวทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์รัก ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึงตัวที่โดดเด่นจริงๆเพียง 7 ตัว ดังนี้

       1. สาร PEA (Phenyl-ethyl-amine)

นักวิชาการให้ฉายาสารเคมีตัวนี้ว่าเป็น  แอมเฟตามีนธรรมชาติ  เพราะมันมีฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ทำให้คนเรามีความสุข เมื่อไรก็ตามที่เราพบใครสักคนที่ดูน่ารัก มีเสน่ห์จนน่าหลงใหล สมองบริเวณด้านหน้าที่เรียกว่า Orbitofrontal cortex (OFC) ซึ่งอยู่บริเวณหลังกระบอกตาจะถูกกระตุ้นให้หลั่งสาร PEA นี้ออกมาแล้วไหลเวียนเข้ากระแสเลือดไปยังส่วนต่างๆทั่วร่างกาย เกิดความกระชุ่มกระชวยมีพละกำลัง แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวซ่านทั้งตัว หัวใจเต้นแรง หายใจถี่ขึ้น ม่านตาขยาย ใบหน้าร้อนผ่าว รู้สึกประหม่า เหงื่อออก ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะเดียวกันจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขอย่างมากจนเกินกว่าคำพูดใดๆจะบรรยายได้ ในระหว่างที่ความรักกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นคือกำลังจีบกันนั้น สารตัวนี้จะถูกกระตุ้นออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความตื่นเต้นระคนกับความสุข ต่างฝ่ายต่างมีแรงจูงใจให้มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่นพูดคุยกัน อยู่ใกล้ชิดกันให้มากที่สุด ยาวนานที่สุด

น่าเสียดายที่สุดเช่นกัน…………..เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งระดับของสารตัวนี้จะค่อยๆลดลงจนทำให้เริ่มรู้สึกหงอยเหงาจับใจ ไม่สดชื่นร่าเริงเหมือนเดิม บางคนถึงขนาดไม่ยอมพูดจากับใคร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมดเรี่ยวแรง ครุ่นคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้พบกันคราใดก็กลับมีความสุขอีก วงจรแห่งความสุขเช่นนี้จะดำเนินไปสักระยะหนึ่งจนกระทั่งสมองเกิดอาการดื้อสารเคมีของตัวเอง ต้องการสารตัวใหม่ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม ซึ่งกลไกเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับอาการที่เกิดขึ้นในคนติดยาเสพติดที่ต้องเสพสารตัวเดิมในปริมาณเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนไปเสพสารตัวอื่นที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม
สารที่จะพูดถึงตัวต่อไปคือ……………..โดปามีน(Dopamine)

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากค่ะ ขออนุญาติแชร์น่ะค่ะ