วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (2)


   2. โดปามีน (Dopamine)

เป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง พบที่สมองหลายส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เวลาที่สมองมีสารตัวนี้สูงขึ้นเราจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้น มีสมาธิดี ความจำระยะสั้นดีรู้สึกกระฉับกระเฉง มีพละกำลังมาก มีความคิดแน่วแน่ มุ่งมั่น ไม่รู้สึกหิว ไม่ง่วงนอน และมีความต้องการทางเพศสูง

ได้มีการทดลองในคนที่กำลังมีความรักในระยะเริ่มต้น โดยให้พวกเขามองดูภาพถ่ายของคนรักแล้วตรวจการทำงานของสมองด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Functional MRI (Magnetic Resonance Image) พบว่า สมองบริเวณดังกล่าวมีการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับที่เกิดขึ้นในสมองของผู้เสพสารเสพติดประเภทกระตุ้นสมอง เช่น โคเคน แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ยาอี ยาไอซ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนที่กำลังมีความรักมีความต้องการที่จะเห็นหน้าและอยู่ใกล้ชิดกับคนรักตลอดเวลา เพราะสิ่งเร้าต่างๆจากคนรักจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีนออกมาเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดความสุขอย่างมาก เมื่อจำต้องแยกจากกันก็จะเกิดความทุกข์ใจ หงุดหงิด กระวนกระวาย หงอยเหงา ไม่มีชีวิตชีวา เพราะสารตัวนี้มีปริมาณลดลง เกิดความอยากที่จะเห็นหน้ากันและอยู่ด้วยกันอีกกลายเป็นวงจรเสพติดความสุขเฉกเช่นเดียวกับคนติดยา เพียงแต่เปลี่ยนจากยาเสพติดมาเป็นคน ในรายที่มีอาการเสพติดคนรักมากๆแล้วไม่ได้รับรักตอบจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเริ่มมีอาการของคนขาดรักมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สามารถหาทางออกได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา อาการขาดรักจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงขีดสูงสุดจนสามารถทำให้ผู้นั้นเกิดอาการหดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เบื่อชีวิต เริ่มคิดสั้น และจบลงด้วยการฆ่าตัวตายได้

ตามที่ได้เคยพูดถึงความรักระยะโรแมนติคในบทก่อนๆว่าจะยืนยาวได้เพียง 6-18 เดือนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาดังกล่าว สิ่งเร้าเดิมๆจะเริ่มอ่อนกำลังลงจนไม่สามารถกระตุ้นสมองของเราให้หลั่งสารโดปามีนออกมาในปริมาณเท่าเดิม หรือ อาจเป็นเพราะสมองเกิดอาการดื้อโดปามีน จึงทำให้ความรู้สึกรักจนหลง รวมทั้งความรู้สึกตื่นเต้นแบบช่วงแรกๆลดความรุนแรงลง ความรู้สึกรวมๆในแบบคนรักจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะมีความรู้สึกใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นก็คือ ความรู้สึกผูกพันและความรับผิดชอบ มีความต้องการที่จะอยู่กันในแบบคู่ชีวิตไปตลอด ในกรณีที่คู่รักทั้งสองไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีพอ หรือที่เรามักพูดว่า ไม่ใช่เนื้อคู่กัน ก็อาจเป็นเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาว่าพวกเขาจะอยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะกันไปในลักษณะเดิมๆด้วยความหวัง (ลมๆแล้งๆ) ที่ว่า สักวันหนึ่งอีกฝ่ายจะเข้าใจตนเอง หรือจะแยกทางกัน หากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการตรงกันว่าอยากแยกทางกัน เรื่องราวคงจบลงด้วยดี แต่หากฝ่ายหนึ่งต้องการเลิกแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ก็มักจบลงด้วยความเศร้าหรือความยุ่งยากมากมาย
ในที่นี้จะขอพูดถึงกรณีที่ความรักมีการพัฒนาไปสู่ขั้นสูงขึ้น ซึ่งต้องการสารเคมีตัวอื่นมารับช่วงปฏิบัติภารกิจต่อไป สารตัวนั้นก็คือ………..ออกซี่โตซิน (Oxytocin)

ไม่มีความคิดเห็น: