วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (3)


3. อ็อกซี่โตซิน (Oxytocin)
               
สารตัวนี้สร้างโดยสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) แล้วส่งต่อไปยังต่อมพิทิวอิทารี่ (pituitary) ส่วนหลัง นักวิชาการให้ฉายาสารตัวนี้ว่า  ฮอร์โมนแม่ เพราะพบปริมาณมากในระยะแม่ให้นมลูก เมื่อลูกดูดนมแม่ จะเกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทที่หัวนมไปยังต่อม pituitary ให้หลั่งสารตัวนี้ออกมา สารตัวนี้จะไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น  

การทดลองหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงอิทธิพลของฮอร์โมน Oxytocin ต่อความรู้สึกรัก ผูกพัน และหวงแหนลูกน้อยของผู้เป็นแม่ กระทำโดย Dr. Diane Witt นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Binghamton รัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ในแม่แกะและแม่หนู พบว่า พวกมันจะมีพฤติกรรมปฏิเสธลูกของพวกมันเอง ในทางกลับกัน เมื่อฉีดฮอร์โมนนี้ให้กับหนูตัวเมียซึ่งไม่เคยผสมพันธุ์กับตัวผู้เลย กลับทำให้พวกมันวิ่งเข้าไปหาลูกหนูของแม่ตัวอื่น พร้อมทั้งแสดงอาการรักใคร่และนอนซบอย่างมีความสุข พร้อมทั้งมีท่าทีปกป้องเสมือนหนึ่งเป็นลูกของพวกมัน
              
ในช่วงทศวรรษที่ 70 มีการค้นคว้าทดลองมากขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของ Oxytocin พบว่า มันเป็นยิ่งกว่าฮอร์โมน แต่ยังเป็นสารนำกระแสประสาท (Neurotransmitters) ที่มีบทบาทเกี่ยวกับพฤติกรรมสำคัญ 2 ประการของคนเราคือ
               1. การร่วมกิจกรรมทางสังคม
               2. การมีเพศสัมพันธ์

ขณะที่คนเรามีพฤติกรรมทั้งสองอย่างนี้ สมองส่วนที่เรียกว่า Hypothalamus จะหลั่ง Oxytocin ออกมามากขึ้น และจะไปกระตุ้นสมองส่วนควบคุมอารมณ์คือ Limbic system ทำให้รู้สึกเป็นสุข และเกิดความรักใคร่ผูกพัน เมื่อมีกิจกรรมเหล่านี้ซ้ำๆก็จะเกิดความคุ้นเคย ความไว้วางใจ ความเป็นมิตร รักหมู่คณะ รักเผ่าพันธุ์ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว จากคุณสมบัติที่โดดเด่นนี้มันจึงได้รับอีกฉายาหนึ่งว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งรัก” (Love Hormone) และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดมนุษย์ (ซึ่งน่าจะรวมถึงสัตว์ด้วย) มีความต้องการพฤติกรรมทั้งสองนี้อย่างสม่ำเสมอ เวลาใดที่ขาดมัน เราจึงรู้สึกซึมเศร้าเหงาหงอยและหงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อพิสูจน์ถึงคุณสมบัติในเรื่องความไว้วางใจ ความเป็นมิตร จิตใจเอื้ออารี ฯลฯ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงได้ทำการศึกษาโดยการทดลองฉีดฮอร์โมนตัวนี้ให้กับผู้ถูกทดลองในสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการลงทุนทำธุรกิจร่วมกับผู้อื่น พบว่า ผู้ถูกทดลองมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความรู้สึกที่ดีและไว้วางใจที่จะร่วมกิจกรรมการลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงกับคนแปลกหน้าอย่างง่ายดายเกินระดับปกติ   

สำหรับบทบาทในเรื่องเพศสัมพันธ์นั้น นักวิจัยพบว่า ฮอร์โมนตัวนี้ยังผลิตที่รังไข่และลูกอัณฑะ ในขณะมีเพศสัมพันธ์และมีการกอดจูบลูบไล้และกระตุ้นจุดต่างๆของร่างกายระหว่างคู่รักนั้น สมองจะหลั่งสารตัวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมากที่สุดในขณะถึงจุดสุดยอดทางเพศ (Orgasm) ทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานทั้งสองเพศ และเกิดความรู้สึกเป็นสุขอย่างที่สุด (Elation หรือ Exaltation) มีความรักใคร่ผูกพันเพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้น และรู้สึกผ่อนคลายอย่างมาก

นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อ Dr. C.Sue Carter ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับบทบาทของ Oxytocin ไว้โดยทำการศึกษาในสัตว์ตระกูลหนู 2 สายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน กล่าวคือมียีนส์เหมือนกันถึง 99 %  คือ Prairie voles และ Montane voles แต่กลับมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องพฤติกรรมการผสมพันธุ์ กล่าวคือ Prairie voles เป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงลูก ในขณะที่ Montane voles ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามหลายตัว และตัวผู้ไม่มีบทบาทในการเลี้ยงลูกเลย  Carter พบว่า Prairie voles ตัวเมียมีปริมาณเซลสมองที่เป็นตัวรับการกระตุ้นจาก Oxytocin (Oxytocin receptor) บริเวณสมองส่วนควบคุมอารมณ์แห่งความสุข (Pleasure center) เป็นจำนวนมาก ส่วนตัวผู้มีทั้ง Oxytocin และ Vasopressin receptor จำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ Montane voles มี Oxytocin และ Vasopressin receptors ในจำนวนที่น้อยกว่ามากๆ เขายังได้ทำการทดลองต่อไปโดยยับยั้งการทำงานของ Oxytocin receptor ในหนู Prairie พบว่า มันไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ตามปกติได้ แต่จะหยุดดูแลลูกๆของมัน และสูญเสียความจำต่อสมาชิกในครอบครัวตลอดจนถึงเผ่าพันธุ์เดียวกันอีกด้วย Carter สรุปว่า Oxytocin จำนวนมากกว่าที่หลั่งออกจากสมองในขณะผสมพันธุ์ทำให้หนู Prairie เกิดความรู้สึกผูกพันต่อกันได้มากกว่าและยังช่วยให้พวกมันมีความสุขมากขึ้นทุกครั้งที่อยู่ด้วยกัน                 

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปบทบาทหน้าที่ของ Oxytocin ต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญได้ 3 ประการคือ
1.  ทำให้เกิดความรักและความผูกพันทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งระหว่างคู่รัก
2.  ทำให้เกิดความรักและความผูกพันอย่างมากของแม่ที่มีต่อลูก ที่เรามักพูดกันติดปากว่า สัญชาติญาณแม่
3.  ทำให้มนุษย์มีความปรารถนาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขอันเกิดจากความรัก ความผูกพันและความไว้วางใจต่อกัน

มาถึงตรงนี้ ท่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า โดยธรรมชาติแล้ว คนเราเป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียวหรือไม่ ผมไม่สามารถตอบได้ครับ เพราะมันคล้ายๆกับคำถามที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อหรือกินพืช เพราะคนที่ชอบแบบหนึ่งก็มักจะหาเหตุผลมายืนยันความเชื่อของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องความรักแล้ว ผมคิดว่าคนปกติทั่วไปเวลาถึงวัยที่อยากจะมีคนรักนั้น คงไม่มีใครที่ตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า จะมีคนรักหลายๆคน คนรักในที่นี้หมายถึงคู่ครองนะครับ ไม่เกี่ยวกับกรณีรักเผื่อเลือกในกรณีที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต่อเมื่อได้ตัดสินใจเลือกแล้ว ก็คงไม่มีใครคิดล่วงหน้าไปว่าจะมีเพิ่มอีกอย่างแน่นอน ขอย้ำนะครับว่า คนที่ปกติโดยทั่วไป  

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะนำเอาความรู้ในเรื่องนี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมและจรรโลงความรักของเรากับคนรักให้ยั่งยืนตลอดไป ในที่นี้จึงขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้ทดลองพฤติกรรมใหม่ๆที่อาจช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารตัวนี้ออกมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น 

·       สบตากัน กล่าวถ้อยคำล่ำลา กอดกัน  ก่อนออกจากบ้านและเมื่อเข้าบ้านทุกวัน 
·       กล่าวถ้อยคำไพเราะต่อกันเสมอๆ
·       นวดร่างกายให้กันบ้างเมื่อมีโอกาส
·       รำลึกถึง พูดถึงเหตุการณ์แห่งความหลังที่มีความสุขร่วมกันมา
·       ดูภาพถ่ายในอดีตด้วยกัน
·       ไปเที่ยวด้วยกันเป็นครั้งคราว ระยะทางใกล้ ไกลไม่ใช่เรื่องสำคัญ
·       มีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ ไม่ต้องถี่  แต่มีคุณภาพ
·       ทำบุญ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสบ้าง เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนเอง
·       ฯลฯ
             
สารเคมีที่จะพูดถึงเป็นตัวต่อไปคือ วาโซเพรสซิน (Vasopressin) และ เซโรโทนิน (Serotonin)


1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากค่ะ