วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สารเคมีแห่งรัก (4)


4.  วาโซเพรสซิน (Vasopressin)
เป็นสารเคมีที่หลั่งออกจากสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) แล้วถูกลำเลียงไปสร้างเป็นฮอร์โมนเต็มตัวที่สมองส่วน pituitary มีฤทธิ์ยับยั้งการขับปัสสาวะของไต ขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่อความรักและความรู้สึกผูกพันในระยะยาวด้วย จะถูกหลั่งออกมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสองเพศ

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผลของฮอร์โมนตัวนี้ที่มีต่อสัมพันธภาพระยะยาวโดยทำการทดลองในหนู Prairie voles ซึ่งได้กล่าวไว้ในบทก่อนว่าโดยธรรมชาติของมันจะมีคู่ครองเพียงตัวเดียว (monogamy) ปกติมันจะมีการร่วมเพศกับคู่ของมันถี่มาก ตัวผู้จะมีพฤติกรรมปกป้องตัวเมียเวลามีตัวผู้อื่นมารบกวน เมื่อตัวผู้ได้รับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของ Vasopressin ความรู้สึกผูกพันต่อคู่ของมันจะยุติลงทันที ไม่มีพฤติกรรมหวงคู่ของมันและไม่พยายามที่จะปกป้องคู่ของมันจากตัวผู้อื่นอีกต่อไป แต่จะไปร่วมเพศกับตัวเมียอื่นๆเรื่อยไปเช่นเดียวกับสัตว์ส่วนใหญ่   
  
5. เซโรโทนิน (Serotonin)
                    
เป็นสารเคมีที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง สร้างขึ้นที่สมองส่วนกลาง (mid brain) และ ก้านสมอง (brain stem) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ความปรารถนาทางเพศ (sexual desire) ความรู้สึกพึงพอใจและสุขใจอย่างมากหลังบรรลุจุดสุดยอดทางเพศ โดยมีการทำงานประสานกับ dopamine อย่างใกล้ชิด
             
เนื่องจากมีการค้นพบก่อนหน้านี้ว่า ในผู้ป่วยโรคประสาทชนิด ย้ำคิดย้ำทำ มีระดับสารตัวนี้ในสมองน้อยกว่าปกติ ประกอบกับคนที่กำลังตกหลุมรักในช่วงต้นๆมักมีอาการย้ำคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า คนสองกลุ่มนี้มีกระบวนการทำงานของสมองที่คล้ายคลึงกันหรือไม่ เพราะมีความหมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งมีแรงผลักดันให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อตอบสนองแรงผลักดันนั้น หากไม่สามารถทำได้จะเกิดความตึงเครียดสูง  กระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข เมื่อได้ทำสิ่งนั้นลงไปก็จะเกิดความสุข ปลอดโปร่งโล่งใจ  แต่จากนั้นไม่นานก็จะเกิดแรงปรารถนาที่จะกระทำเรื่องเดิมนั้นอีก เป็นการกระทำซ้ำๆเช่นนี้เรื่อยไป  การทดลองที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจนกระทำโดย Dr. Donatella Marazzati จิตแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัย Pisa ประเทศ อิตาลี โดยการเจาะเลือดในคู่รักใหม่ที่เพิ่งมีความรักกันมาไม่เกิน 6 เดือน พบว่า ระดับสาร Serotonin ในเลือดของพวกเขามีระดับต่ำกว่าปกติ และอยู่ในระดับพอๆกับที่พบในผู้ป่วยโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ University College London ประเทศอังกฤษ  การค้นพบนี้จึงเป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมคนที่กำลังมีความรัก จึงมีพฤติกรรมย้ำคิดถึงแต่คนรัก และย้ำทำ คืออยากไปพบ พูดคุยกัน มีกิจกรรมต่างๆด้วยกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
6. อะดรีนาลีน (Adrenaline)

ผลิตและหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต เข้าสู่กระแสเลือดแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย  เป็นสารนำกระแสประสาทที่มีบทบาทกว้างขวางมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวและมีการรับรู้ต่อสิ่งเร้าต่างๆ  มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้นในบางสภาวะ เช่น ขณะตื่นเต้น ตกใจ กลัว วิตกกังวล เครียด ประหม่า สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงรัก หรือแอบหลงรักใครสักคนในระยะแรกๆ เมื่อเข้าใกล้คนที่แอบรักจะเกิดอาการตื่นเต้น ประหม่า กลัวๆกล้าๆ ก็จะเกิดอาการต่างๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการกระตุ้นการหลั่งสารตัวนี้ออกมามากขึ้นในภาวะเครียดนั่นเอง   
    
7. เอนดอร์ฟิน (Endorphin)
             
เป็นสารนำกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุขและมีบทบาทสำคัญมากอีกตัวหนึ่ง  สร้างขึ้นที่สมองบริเวณ Hypothalamus แล้วส่งต่อไปที่ต่อมใต้สมองที่ชื่อว่า pituitary gland เช่นเดียวกับอีกหลายๆตัว คำว่า endorphin มาจากการผสมคำ 2 คำ คือ endogenous ซึ่งแปลว่า จากภายใน และ Morphine ซึ่งเป็นยาแก้ปวดอย่างแรง และมีฤทธิ์เสพติดได้ง่าย  รวมความหมายก็คือ สารมอร์ฟีนที่ผลิตจากภายในร่างกายเอง ที่ตั้งชื่อเช่นนี้เพราะว่า สาร Endorphin ตัวนี้ มีฤทธิ์คล้ายๆกับยา Morphine ที่ใช้เป็นยาแก้ปวดอย่างแรงและ ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุขอย่างมาก ในภาวะที่ร่างกายของคนเรามีการกระทำบางอย่าง เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา มีเพศสัมพันธ์ สิ่งเร้าต่างๆที่ส่งผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า (ตา, หู, จมูก, ปาก/ลิ้น, ผิวกาย) หรือภาวะเจ็บปวดทางร่างกายจากสาเหตุต่างๆ จะกระตุ้นให้สมองผลิตและหลั่งสารตัวนี้ออกมามากขึ้น ซึ่งมันจะไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสุขอีกต่อหนึ่ง เราจึงรู้สึกมีความสุข ทั้งขณะและหลังการมีกิจกรรมต่างๆดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความสุขจากการกระทำในสิ่งที่ชอบ เช่น การได้อยู่กับคนรัก การเล่นและฟังดนตรี การทำงานอดิเรก การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จึงมีความสุขจากสาร Endorphin อยู่เสมอๆ   ครั้นพอไม่มีกิจกรรมดังกล่าวก็จะเกิดอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย หรืออารมณ์เสียได้ง่ายกว่าปกติเพราะขาดสารตัวนี้ คล้ายกับคนที่ติดสารเสพติด เพียงแต่มีอาการน้อยกว่ากันมาก
          
ในตอนหน้าจะเป็นบทสรุปเกี่ยวกับการทำงานของสารเคมีแห่งรักทุกตัว เพื่อให้เห็นเป็นภาพต่อเนื่องและเกิดความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้างในกระบวนความรักทั้งหมด             

ไม่มีความคิดเห็น: