วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (3)


นิสัยเช่นนี้เปลี่ยนได้หรือไม่

ได้บ้าง แต่ด้วยความยากลำบาก ผู้ได้รับผลกระทบคือคู่รัก ต้องใช้ความอดทนสูงมาก ส่วนผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำต้องมีความตระหนักถึงปัญหาว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากการเรียนรู้ผิดๆในวัยเด็ก จากนั้นต้องยอมรับให้ได้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสม และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยมผิดๆเสียใหม่ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องอันจะนำความสุขกลับมาสู่ชีวิตครอบครัว หาไม่แล้วชีวิตคู่คงต้องจบลงแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าวข้างต้น
            
ขอให้ท่านพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้ แล้วถามตัวเองว่า เคยทำกับคนรักของท่านมาก่อนหรือไม่
      · ตำหนิติเตียน จับผิด พูดจาดูหมิ่นเป็นประจำ 
      · ไม่เคยให้กำลังใจเวลาคนรักทำสิ่งดีๆ หรือประสบความสำเร็จ
      · ชอบซ้ำเติมเวลาคนรักทำผิดพลาด ไม่เคยปลอบใจหรือให้กำลังใจ
      ·  ตัดสินใจแทน รู้สึกแทนอยู่เสมอ
      · ไม่ยอมรับในความสามารถของคนรัก ทั้งการแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำ
      · พยายามที่จะเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของคนรัก แต่ไม่ยอมเปลี่ยนของตนเอง เพราะคิดว่า ตนเองถูกต้องเสมอ
      · แสดงอารมณ์โกรธหรือก้าวร้าวของตนเองได้เต็มที่ แต่ไม่พอใจเวลาเห็นคนรักมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (เพราะเธอไม่มีสิทธิที่จะโกรธฉัน)
      · ทำร้ายคนรักด้วยคำพูด และการกระทำ (รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่คนรักไม่เต็มใจ)
      · ต้องการเป็นผู้ชนะหรือ เป็นฝ่ายถูกต้องในทุกๆเรื่อง
      · พูดจาเยาะเย้ยถากถาง ข่มขู่ ข่มเหงจิตใจทุกครั้งที่มีโอกาส
      · ไม่ยอมรับผิดทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองผิด ไม่เคยกล่าวคำขอโทษ
      ·  มักไม่ตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา แต่ชอบพูดจายอกย้อนวกวน กวนโทสะ
      ·  ชอบให้คำแนะนำ แต่ตัวเองไม่เคยทำได้
      ·  ปากแข็ง ไม่เคยขอความช่วยเหลือใดๆจากคนรัก แต่ใช้การออกคำสั่งแทน
      ·  มีความคาดหวังสูงว่าคนรักต้องทำสิ่งต่างๆให้ตลอดเวลา
      ·  คำว่า ขอบคุณ ไม่เคยหลุดออกจากปาก
      ·  ไม่ค่อยเอาใจคนรัก แต่ชอบให้คนรักเอาใจ
      ·  ไม่ยอมรับว่าตนเองมีลักษณะต่างๆดังกล่าวข้างต้น

ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ หากมีอยู่ในคู่รักใด ไม่ว่าจะเป็นแฟนหรือภรรยาสามีกัน จะเป็นตัวขัดขวางพัฒนาการของความรักไม่ให้เติบโตต่อไป แต่ทำให้เกิดความอึดอัดและบรรยากาศที่ตึงเครียดในครอบครัว หากปล่อยเนิ่นนานออกไป ความเครียดจะเปลี่ยนเป็นความเกลียด โกรธแค้น ชิงชัง รักจืดจางลงทุกวัน…….จนหมดรักในที่สุด  สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายแสดงอำนาจนั้น มักจะไม่มีความรักให้กับคู่รักของตนมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะความที่เป็นคนมีบุคลิกประจำตัวเช่นนั้นมาก่อน (แข็งกระด้าง หลงตัวเอง ชอบแสดงอำนาจ โดยเฉพาะกับคนที่อ่อนอแกว่า) ประกอบกับการมีความเชื่อและทัศนคติผิดๆ โดยเฉพาะเพศชายที่มักคิดว่า ผู้ชายใหญ่กว่า สำคัญกว่าผู้หญิง บุคคลประเภทนี้มักไม่ค่อยมีอารมณ์สุนทรี ไม่ชอบฟังดนตรี ไม่สนใจงานศิลปะต่างๆ ใช้สมองซีกเดียวในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สนใจหลักศาสนาและหลักปรัชญาใดๆ มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จึงทำให้พวกเขาไม่มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวถาวร ไม่ยอมเสียเปรียบ ไม่ประนีประนอม เอาแต่ใจตัวเอง อยู่ไหนมักมีคนรักน้อยกว่าคนชัง บางคนประสบความสำเร็จทางโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ชีวิตครอบครัวกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 
            
ก่อนผ่านเรื่องใหญ่นี้ไปบทอื่น ขอสรุปพฤติกรรมทั้งหมดที่หากเกิดขึ้นในวัยเด็กเล็กระหว่าง2-5 ปี อาจส่งผลกระทบกับชีวิตรักในอนาคต ดังนี้
                    1.  การไม่ยอมรับ ไม่ยอมเชื่อฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของคุณแม่คุณพ่อ หรือญาติผู้ใหญ่ เลือกใช้การต่อสู้ ต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องไห้ไม่หยุด ลงไปนอนดิ้นบนพื้น ขว้างปาข้าวของ ใช้การทำร้ายคนอื่นหรือตนเองเป็นเครื่องต่อรอง
                 ผลกระทบ  ต้องการเป็นใหญ่ในครอบครัวด้วยการแสดงอำนาจและใช้อำนาจอย่างผิดๆ เช่น ใช้กำลังทำร้ายร่างกายคนรัก (มักเป็นผู้ชาย) มีพฤติกรรมไม่สมวัย เช่น เวลาถูกขัดใจ จะข้าวปาสิ่งของ ร้องกรี๊ด ทำร้ายตัวเองหรือคนรัก (มักเป็นผู้หญิง) บรรยากาศในบ้านมีแต่ความอึดอัด ขัดแย้ง ไม่มีความสงบสุข ส่งผลเสียถึงลูกๆ
                    2.  การสมยอม  อย่างไม่เต็มใจ เก็บกดความรู้สึกและความต้องการเอาไว้ด้วยความขมขื่น ทำตัวเหมือนเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่สะสมความเคียดแค้นชิงชัง รอวันประกาศอิสรภาพ
                 ผลกระทบ  เป็นผู้ใหญ่ที่รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง หดหู่เศร้าหมองอยู่เสมอ ไม่มีความสุข เมื่อผิดหวังในรัก ก็มักเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากความทุกข์ทรมานใจ บางรายที่มีความโกรธแค้นคนรักอย่างรุนแรงก็อาจฆ่าคนรักก่อนที่จะฆ่าตัวตายตาม  
                    3 . การปรับตัว  เด็กเข้าหาผู้ใหญ่ด้วยความเต็มใจ เพราะได้รับโอกาสให้ตัดสินใจเอง เข้าใจความหวังดีและยอมรับทางเลือกอื่นๆ ไม่สูญเสียความรู้สึก  ขอบเขตแห่งความเป็นตัวตน (ego boundary) ไม่ถูกกระทบมากเกินไป
                 ผลกระทบ  เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง แต่ไม่หลงตัวเอง มีเหตุผล ควบคุมอารมณ์ได้ดี ให้เกียรติผู้อื่น มีการแบ่งปันการใช้อำนาจอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์กับคู่ครอง ครอบครัวมีความสุข

ตอนต่อไปเป็นตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทนี้ จากนั้นผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ กิ๊ก ที่คุณอาจจะอยากมีกับเขาบ้าง หรือ มีอยู่แล้วแต่เริ่มก่อเรื่องวุ่นวายจนอยากจะหนี แต่หนีไม่ออก

ไม่มีความคิดเห็น: