วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อาณาเขตแห่งตัวตน (Ego Boundary)-1


 ชีวิตคุณอาจเคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน
    
  • มีใครมาถามเรื่องส่วนตัวในแบบล้ำเส้นจนคุณรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ โกรธ 
  • ครบางคนในบ้านคุณเองเข้ามาในห้องนอนของคุณ แล้วค้นลิ้นชักเปิดสมุดไดอารี่บันทึกเรื่องราวลับเฉพาะ หรือ อ่านจดหมายเก่าๆของคุณ แม้คนที่ทำจะเป็นคุณแม่ของคุณเอง
  • ใครบางคนเข้าไปกล่าวถ้อยคำหยาบคาย โจมตีคุณอย่างเสียๆหายๆใน facebook,  tweeter ฯลฯ
             ทำไมคุณจึงรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ
                     ผิดหรือไม่ ที่คุณรู้สึกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟต่อบุพการี
             และอะไรคือต้นเหตุของความไม่พอใจเหล่านั้น
             
สามัญสำนึกของคนโดยทั่วไปจะตอบว่า เพราะความเป็นส่วนตัวของเราถูกรุกล้ำ โลกส่วนตัวของเรากำลังถูกกล้ำกลาย เราเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ต่อจากนี้ไป ใครๆก็สามารถล่วงรู้เรื่องราวส่วนตัวของเราได้หมด โดยเฉพาะเรื่องที่เราไม่อยากให้ใครรู้
             
              หมายความว่า คนเราต้องการความเป็นส่วนตัว อยากมีโลกส่วนตัวกันทุกคน  ใช่หรือไม่?
             
ผมเชื่อว่า คุณคงเคยได้รับรู้เรื่องราวของพฤติกรรมสัตว์บางสายพันธุ์ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลแมว (รวมถึง เสือ สิงโต) และ สุนัข ที่ปัสสาวะรดไปตามที่ต่างๆ ใต้ต้นไม้บ้าง ล้อรถยนต์ของคุณบ้าง นักพฤติกรรมศาสตร์อธิบายว่า เป็นการประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขตของพวกมัน เพื่อบอกไปยังสัตว์ตัวอื่นๆว่า ถิ่นนี้มีเจ้าของ ห้ามรุกล้ำเข้ามานะ
             
              ความต้องการเป็นเจ้าของอาณาเขตส่วนตัวของสัตว์  จึงเป็นเรื่องของสัญชาติญาณโดยแท้                        
              มนุษย์ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น สัตว์ประเสริฐ ก็ไม่พ้นจากกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินี้เช่นกัน                   
             
วิชาจิตวิทยา มีคำอธิบายเรื่องนี้ในหัวข้อ อาณาเขตแห่งตัวตน (Ego boundary) ไว้อย่างชัดเจน คำว่า อีโก้ (Ego) หมายถึง ตัวตน หรือ ตัวของเรา ส่วนคำว่า Boundary หมายถึง ขอบเขตหรืออาณาเขต  เมื่อนำมารวมกันเป็นคำว่า Ego boundary  จึงหมายถึง อาณาเขตแห่งตัวตนของเราแต่ละคน มีความหมายทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม สามเหตุการณ์ข้างต้นเป็นตัวอย่างของพฤติกรรม รุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ในหลายๆบ้าน กับหลายๆคน จนบางครั้งได้สร้างปัญหารุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น เราทุกคนจึงควรทำความรู้จักกับคำๆนี้ให้ดีพอ และตระหนักถึงผลเสียของ การรุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน ทั้งในแง่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ  
                
                ทั้งนี้เพราะว่า มนุษย์ทุกคนรักชีวิตของตนเอง ด้วยกันทั้งนั้น
                และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มี จิตวิญญาณเสรี
                
เราจะนำเอาความรู้เรื่องนี้ไปใช้กับ ความรัก ระหว่างคู่รักและคู่ชีวิตได้อย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมให้ความรักของพวกเขามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงตลอดไป
                เรามาดูตัวอย่างเพิ่มกันอีกสักหน่อยนะครับ
  • แฟนหนุ่มถามแฟนสาวหลังจากหลับนอนกันเป็นครั้งแรกว่า เธอเคยนอนกับชายอื่นมาแล้วหรือยัง
  • ภรรยาตรวจสอบความซื่อสัตย์ของสามีด้วยการค้นหาข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ email, Facebook ของสามี
  • อดีตสามีตามไปฆ่าอดีตภรรยา บางรายก็รวมสามีใหม่ไปด้วยอีกคน  

                ทั้งสามตัวอย่างข้างต้นล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงผ่านการบอกเล่าของผู้ป่วย กรณีที่สามปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆอยู่เป็นประจำ  เรื่องราวที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากสังคมมีความเข้าใจและยอมรับในเรื่อง อาณาเขตแห่งตัวตนของกันและกันอย่างถูกต้อง มิได้หมายความว่า ผมเห็นดีเห็นงามกับพฤติกรรมเหล่านั้นและควรให้มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปละลาบละล้วง ผมกลับคิดว่า ถ้าหากคนรักของคุณนอกใจคุณ เขาหรือเธอของคุณสามารถจะพูดได้หรือไม่ว่า ยังรักคุณอยู่ เพราะรู้ๆอยู่แล้วว่าเรื่องแบบนี้สักวันหนึ่งต้องถูกเปิดเผยจนได้ และคุณจะเสียใจเพียงใด  คุณเองก็เถอะยังจะรักเขาหรือเธอเหมือนเดิมต่อไปหรือไม่ เพราะ คนรักไม่เหมือนของเล่นที่ถูกขโมยไป แล้วคุณต้องตามหาให้เจอเพื่อนำกลับมาเล่นต่อ แต่มันมีผลกระทบต่อความรู้สึกของคุณอย่างใหญ่หลวง
                  
                 ถึงแม้ว่า จะลงเอยกันด้วยดีโดยการขอโทษหรือให้อภัยกัน แต่คุณจะทำใจได้มากน้อยเพียงใด และได้นานแค่ไหน แน่นอนว่าคุณจะยังคงมีความวิตกกังวลอยู่ดีว่า จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีกหรือไม่  
                 หากเราสามารถยอมรับกันให้ได้ว่า คนรักของเรามีสิทธิเปลี่ยนใจไปรักคนอื่นได้ ถ้าเราไม่สามารถทำให้เขาหรือเธอรักเราได้อีกต่อไป ผมเชื่อว่า เราก็จะไม่เจ็บปวดมากจนเกินไป ในทางกลับกัน หากคุณเป็นฝ่ายปันใจ คนรักของคุณก็กลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ หากคนรักของคุณยึดหลักตรรกะเดียวกันนี้ เธอหรือเขาก็ย่อมจะไม่เจ็บปวดมากเกินไปเช่นกัน
                 
                 พูดง่ายทำยาก แน่นอนครับ แต่เพราะเหตุใด
                 
                 ก็เพราะ คนในสังคมเดียวกัน มักมีความคิด ค่านิยม ความเชื่อคล้ายๆกัน อันถูกหล่อหลอมออกจากวัฒนธรรมเดียวกัน นอกเหนือจากกรอบความคิดในมิติทางสังคมจิตวิทยา (เช่น ความเสียหน้า ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสถานภาพของพ่อหม้ายกับแม่หม้าย ฯลฯ) แล้ว ยังมีเรื่องของความไม่เข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายชายนอกใจแล้วฝ่ายหญิงขอหย่าพร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในทางปฏิบัตินั้นมีปัญหามากมาย นับตั้งแต่การยื่นความจำนง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต  การฟ้องร้อง การต่อรองค่าชดเชยต่างๆ การถูกข่มขู่โดยฝ่ายชาย หากเปรียบเทียบกับในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า ระบบการแก้ปัญหาของเขามีการปกป้องผลประโยชน์ให้กับฝ่ายเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มักเป็นฝ่ายหญิงอีกเช่นกันที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ สำหรับสังคมไทยแล้วผมคิดว่าหนทางยังอีกยาวไกลนัก เพราะสังคมไทยยังจมปรักอยู่กับค่านิยมเก่าๆที่กดขี่เพศหญิงอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสองมาตรฐานของพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังแต่งงาน
 (จะขอพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่งในมุมมองที่ลึกมากขึ้น ในหัวข้อเรื่อง ความรัก-เกมแห่งอำนาจ ” ในบทที่ชื่อว่า          " ด้านมืดของความรัก" ซึ่งเป็นบทใหญ่ต่อจากบทนี้ครับ)

เรื่องนี้ยังมีต่ออีกหนึ่งตอนนะครับ โปรดติดตาม                   

ไม่มีความคิดเห็น: