วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การพึ่งพา


ทำไมคนเราจึงรักกัน
             เป็นคำถามที่ฟังดูแปลกๆและอาจกวนใจบางคน แต่ผมคิดว่าตอบไม่ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิดหรอกครับ ไม่เชื่อคุณลองถามเพื่อนๆดู แต่ขอให้เป็นเพื่อนสนิทสักหน่อยเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง แล้วคุณจะพบความจริงที่น่าตื่นเต้นว่า คำตอบทำไมจึงได้มากมายเหลือเกิน ทั้งตื้นเขินและล้ำลึกสุดประมาณ หรือยียวนจนไม่อยากถามต่อ คำถามทำนองนี้มีอีกมากมาย เช่น ความยุติธรรม ความดี ความชั่ว ความถูกต้อง ศีลธรรมอันดีงาม คืออะไร เพราะเราจะพบว่า เรื่องราวเดียวกัน หากเกิดต่างเวลากัน ความหมายย่อมต่างกันไป แม้แต่เกิดในยุคเดียวกันแต่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมก็ให้ผลต่างกันชนิดขาวเป็นดำได้ ผมจะไม่ยกตัวอย่างในที่นี้ เพราะบางเรื่องมีความเปราะบาง หมิ่นเหม่และอาจกระทบต่อความรู้สึกของคนบางส่วนในสังคม ผมเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของผู้อ่านทุกท่านว่าสามารถคิดถึงเรื่องราวต่างๆในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศได้ไม่ยากจนเกินไป เพียงคิดในใจให้เกิดปัญญา ไม่พูดให้ร้ายใครก็นับว่าเป็นคุณต่อตัวเองระดับหนึ่งแล้ว
                
                กลับมาพูดถึงเรื่องความรักกันต่อดีกว่า
                เมื่อคนสองคนมาพบกัน เกิดรักใคร่ชอบพอกันจนสุดท้ายตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ความต้องการของคู่รักโดยทั่วไปคงคล้ายๆกัน คือ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน มีลูกด้วยกัน เป็นเพื่อนคลายเหงา เพื่อสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลช่วยเหลือกันยามแก่เฒ่า แต่ไม่ว่าจะมีเหตุผลใด สิ่งที่อยู่ลึกลงไปในระดับจิตไร้สำนึกก็คือ เพื่อเติมเต็มให้ชีวิต บางคนอาจคิดว่า ตนเองสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องการคนรัก และอาจมีความสุขได้ไม่แพ้กันหรือมากกว่า  ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความคิดความต้องการเช่นนั้น หากชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นมีพัฒนาการมาอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงวัยที่พวกเขาเริ่มรักเป็น ถ้าไม่ใช่เพราะมีประสบการณ์รักไม่สมหวังมาก่อนซึ่งได้ทิ้งบาดแผลทางใจรุนแรงเอาไว้  ก็ยังเหลือเหตุผลที่เข้าใจได้อีกพอสมควรสำหรับการเลือกอยู่คนเดียว เช่น การมีภาระทางครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบอย่างมากจนไม่มีเวลาหรืออารมณ์ที่จะรักใคร บางคนอาจสนุกกับงานหรือการศึกษาเล่าเรียนจนลืมเรื่องรัก กว่าจะรู้สึกเหงาอยากมีคู่ก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการมีคู่รักเพียงเป็นเพื่อนคู่ชีวิตในยามสูงวัย ก็จำเป็นต้องลดความต้องการที่จะมีลูกลงไป บางรายเรียนจบแล้วมุ่งมั่นทำแต่งานเพื่อสร้างฐานะ ครั้นพอคิดว่ารวยแล้วอยากมีคู่ ก็กลัวว่าคนที่จะมาเป็นคู่เขารักตัวหรือรักเงิน ถือเป็นทุกข์ลาภแบบหนึ่ง  บ้างก็เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ต้องการอิสรเสรีอย่างเต็มที่ในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องการรับผิดชอบชีวิตใครอีก ไม่ต้องการให้ใครมาวุ่นวาย สูงที่สุดคือ ต้องการนิพาน ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
                 
                 เมื่อพิจารณาคำว่า เติมเต็มให้ชีวิต ให้ถ่องแท้ จะพบความจริงอย่างหนึ่งคือ คนโดยทั่วไปต่างรู้สึกว่า การอยู่คนเดียวชีวิตมันไม่เต็ม มีอะไรบางอย่างขาดหายไป สิ่งนั้นคืออะไร แล้วหายไปอยู่ไหน มันอาจไปอยู่ที่อีกคนหนึ่ง จึงเกิดแรงผลักดันให้ตามหาบุคคลผู้สูญหายคนนั้น  เมื่อได้มาพบกันแล้วต่างฝ่ายต่างรู้สึกตรงกันว่า คนนี้ใช่เลย ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพิ่มอีกสักหน่อยเพื่อความมั่นใจ  มีการเติมเต็มส่วนขาดให้แก่กันระยะหนึ่งจนเกิดความรู้สึกต้องพึ่งพากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น หากการพึ่งพากันนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ความรักจะพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคง ดังนั้นแล้ว การเติมเต็มให้ชีวิต ก็คือ ความต้องการพึ่งพาซึ่งกันและกัน อันถือเป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ นั่นเอง
                
คำถามคือ การพึ่งพาอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น เป็นอย่างไร

Brenda Schaeffer นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติด และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่กับงานครอบครัวบำบัด ได้แบ่ง การพึ่งพา ออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ  
                     1.  การพึ่งพาอย่างถูกต้องเหมาะสม
                  หมายถึง การพึ่งพาที่คนทั้งสองมีให้กันแบบทั้งเป็นผู้ให้และผู้รับ ด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม เกิดความพึงพอใจด้วยกันทั้งคู่  คำว่าสัดส่วนนั้นไม่ได้หมายถึงปริมาณที่สามารถวัดได้เป็นรูปธรรม แต่เป็นไปอย่างลงตัวตามความสามารถและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตคู่ เช่น ถึงแม้สามีจะเป็นฝ่ายหารายได้เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ภรรยาก็เป็นแม่บ้านเต็มเวลา ทำหน้าที่ดูแลงานบ้านทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่นอกเหนือจาก การเลี้ยงลูก คนทั้งสองจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ที่สำคัญคือ ต่างพึงพอใจในบทบาทของตนเองและคู่รักโดยไม่คิดว่าใครสำคัญกว่าใคร
              
              2.  การพึ่งพาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
                   หมายถึง การพึ่งพาที่คนทั้งสองมีให้ต่อกันในลักษณะที่คนหนึ่งเป็นฝ่ายให้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เกิดจากความคิดและทัศนคติผิดๆ เช่น ฝ่ายชายคิดว่าตนเองมีความสำคัญกว่า เก่งกว่า อยู่เหนือกว่า เพราะหาเงินฝ่ายเดียวหรือหาได้มากกว่า มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า ชาติตระกูลสูงกว่า หรือเพียงเพราะว่าเป็นเพศชายต้องเป็นช้างเท้าหน้าและเป็นใหญ่ในครอบครัว ซึ่งเป็นทัศนคติที่ล้าสมัยและสร้างปมขัดแย้งให้สามีภรรยาในยุคปัจจุบันอย่างมาก  ส่วนฝ่ายหญิงก็อาจมีทัศนคติผิดๆด้วยเช่นกันคือ ยอมรับทัศนคติ หรือค่านิยมเก่าๆ ยอมเป็นช้างเท้าหลังในทุกๆเรื่อง ปล่อยให้ฝ่ายชายเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง ตนเองเป็นเพียงผู้สนองความต้องการของฝ่ายชายทุกๆเรื่อง ทำตัวไม่ต่างจากคุณแจ๋ว เช่น สามีพูดในลักษณะออกคำสั่งให้ภรรยายกน้ำให้ดื่ม หรือต้องการผลไม้ อาหารว่างทันทีที่กลับถึงบ้าน หากบริการไม่ทันใจก็จะมีวาจาผรุสวาทมอบให้ บางรายต้องคอยตามเก็บเสื้อผ้าใช้แล้วที่คุณชายโยนทิ้งไม่เป็นที่ รวมทั้งสารพัดความสกปรกในชีวิตประจำวัน กรณีเช่นนี้ ฝ่ายชายได้เปลี่ยนสภาพจากผู้รับไปเป็นผู้ออกคำสั่งหรือ ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ฝ่ายหญิงเปลี่ยนจากผู้ให้ปกติเป็น ผู้รับใช้ ไม่ต่างอะไรกับทาสของฝ่ายชาย ซึ่งถือเป็นบทบาทที่ สุดขั้ว ของทั้งสองฝ่ายที่ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคู่รักกันอีกต่อไป แต่เป็นความสัมพันธ์แบบหัวหน้ากับลูกน้องหรือนายกับบ่าวมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองฝ่ายต่างมีความต้องการตรงกันก็ถือเป็นข้อยกเว้นเป็นรายๆไป เขาชอบของเขาอย่างนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา
                
                ลักษณะที่พบได้ในคู่รักแบบ ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ซึ่งอาจเป็นฝ่ายหญิงก็ได้ แต่ในสังคมไทยมักเป็นฝ่ายชาย) คือ คิดว่าตนเองอยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย ตัวเองถูกเสมอ โยนความผิดให้ผู้อื่นได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะคนรัก มีความขี้ระแวงสงสัย โกรธง่าย ไม่อดทน ก้าวร้าว มักอ้างความชอบธรรมในการทำสิ่งต่างๆที่ตนเองต้องการโดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อความรู้สึกของคนรักและความมั่นคงในครอบครัวหรือไม่ เช่น การใช้ชีวิตกลางคืนกับเพื่อนๆ ดื่มเหล้าเมายาหรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นกิ๊กหรือหญิงบริการ กลับบ้านดึกๆโดยที่อีกฝ่ายไม่มีสิทธิโกรธหรือไม่พอใจ วันหยุดไปเล่นกีฬากับเพื่อนๆ แสวงหาความสุขใส่ตัวแต่เพียงฝ่ายเดียว กลไกทางจิตที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้คือ การโทษผู้อื่น (Projection)   
               
                   ลักษณะที่พบได้ในคู่รักแบบ ผู้รับใช้ (ซึ่งอาจเป็นฝ่ายชายก็ได้) คือ คิดว่าตนเองต่ำต้อยด้อยกว่าคู่รัก เป็นคนไม่มีความสามารถ ไม่มีอะไรดี ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง อารมณ์หงอยเหงาเศร้าสร้อยอยู่เสมอ บางครั้งสับสน ละอายใจง่ายเวลาทำอะไรผิดพลาด สงสารตัวเอง ช่วยตัวเองไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรงอยู่เสมอๆ ความตึงเครียดเรื้อรังเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายในที่สุด อาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยๆคือ โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน ลำไส้ใหญ่อักเสบ หอบหืด แม้แต่เบาหวาน เพราะความอ่อนเพลียและจิตใจเปลี่ยวเหงาไม่มีความสุข ทำให้ไม่อยากทำอะไรแม้กระทั่งการออกกำลังกาย เมื่อกลายสภาพเป็นผู้ป่วยเรื้อรังก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเรียกร้องความเห็นใจและสนใจจากคนรักได้ ซึ่งจะได้ผลในช่วงสั้นๆ ต่อไปคนรักก็จะเกิดความเบื่อหน่ายและไม่สนใจเช่นเดิม กลไกทางจิตที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือ การปฏิเสธความจริง (Denial)
                 
                คู่รักใดที่มีลักษณะเช่นนี้ จะมีแต่ความตึงเครียด ไม่มีความสุข ชีวิตมีแต่ความน่าเบื่อหน่าย เมื่อถึงจุดหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่สามารถทนได้อีกต่อไป อาจเกิดการต่อต้านหรือต่อสู้กันในรูปแบบต่างๆ ที่พบบ่อยคือ การทำร้ายร่างกาย เว้นเสียแต่ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคนเสพติดรักในแบบที่สามารถอยู่ด้วยกันได้เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน คือ เป็นคนเสพติดรักแบบพึ่งพาความสัมพันธ์ (Relationship addict) ฝ่ายหนึ่ง กับ แบบหลงรักตัวเอง (Narcissistic love addict) อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบที่พบได้บ่อยในสังคมไทย

สรุป             
                พึงตระหนักไว้เสมอๆว่า ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่วัยแรกเกิดจนโตโดยหาที่ติไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมเสพติดรัก คือ การต้องพึ่งพาคนรักในรูปแบบใดแบบหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในคู่รักปกติทั่วไป เราทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่อง การพึ่งพา ระหว่างคู่รัก และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตคู่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีความสุข  

ไม่มีความคิดเห็น: