วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความเข้ากันได้ของคู่รัก (1)



ความจริงที่น่ารู้ แต่มักถูกมองข้าม

คนเราเมื่อถึงวัยที่อยากมีรัก  ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดคุณสมบัติของคนรักก่อน  ช่วงแรกๆมักมีข้อกำหนดสูง เช่น หล่อ / สวย รวย เก่ง เด่น ดัง ดีพร้อมทุกอย่าง เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจึงค่อยๆลดคุณสมบัติลงเหลือแค่ รวย กับ ดี ครั้นพอเวลาผ่านไปจนรู้สึกว่า เวลาเหลือน้อยลงทุกทีก็เริ่มรู้สึกท้อจนไม่อยากดิ้นรนค้นหาต่อไป จึงลดเหลือเพียงข้อเดียวคือ ขอให้เป็นคนละเพศกับตัวเองก็พอ (ในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีความต้องการคนต่างเพศมาเป็นคู่ครองเท่านั้น ส่วนคนที่ชอบเพศเดียวกันก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นกรณีทั่วไป)

เวลาที่คุณถามคนที่เขารักกันว่า เหตุใดพวกเขาจึงครองรักกันมาได้นานจนน่าอิจฉา ก็มักจะได้ยินคำพูดต่างๆเหล่านี้
                เรารักกัน เพราะเรามีอะไรหลายๆอย่างเหมือนกัน เราเข้ากันได้ดีมาก
                ถึงแม้เราจะมีอะไรหลายอย่างที่ต่างกัน แต่ก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารักกันก็คือ เราเข้ากันได้
   เราคบหาดูใจกันมานาน จนมีความเข้าใจกัน และมั่นใจว่า เราเข้ากันได้อย่างแน่นอน
   อะไรๆ ก็ เข้ากันได้จนไม่รู้ว่า มันคืออะไร
               
               ทั้งๆที่คำว่า เราเข้ากันได้เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยที่สุดในเรื่องความรัก แต่ดูเหมือนว่ามันยังมีความคลุมเครืออยู่มากทีเดียว
  
                เมื่อคู่รักส่วนหนึ่งอยู่ด้วยกันไปสักระยะ  ก็ถึงวันที่ทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมใจกันประกาศเอกราช ด้วยถ้อยคำที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่คราวนี้เป็นประโยคปฏิเสธ
                สาเหตุที่เราต้องตัดสินใจ แยกทางกันก็เพราะ ……….

   เราเข้ากันไม่ได้ เราไม่มีอะไรที่เหมือนกันสักอย่าง
   เราพยายามเต็มที่แล้ว แต่เราเข้ากันไม่ได้จริงๆ
   เรายังเด็กเกินไปที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ตอนนี้เรายังเข้ากันไม่ได้
   เราอยู่กินกันมากว่า 30 ปี ลูก 4 หลาน 10 สุดท้ายเราก็พบความจริงว่า เราเข้ากันไม่ได้
           
                 คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์กับคำทั้งสองนี้มาด้วยตนเอง ทั้งสับสน โกรธแค้น เจ็บปวด หดหู่ เศร้าเสียใจ หวาดระแวง ท้อแท้ หมดหวัง จนไม่เชื่อว่าโลกนี้มี รักอยู่จริง
                 ถ้าเช่นนั้น เราน่าจะมาลับสมองด้วยการช่วยกันหาความหมายของคำๆนี้กันสักหน่อย อย่างน้อยที่สุดก็อาจพอเป็นข้อกำหนดกลางๆเอาไว้บ้าง ส่วนใครจะไปเพิ่มอีกนิดหรือลดอีกหน่อยก็ไม่ว่ากัน    

 อะไรบ้างที่ ควรจะเป็นองค์ประกอบของ  ความเข้ากันได้” 
               นักวิชาการในต่างประเทศได้พยายามค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปของ ความเข้ากันได้ว่ามีอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือ

          1. กายภาพ  เป็นความเข้ากันได้ในคุณลักษณะภายนอก เช่น รูปร่าง หน้าตา น้ำหนัก ส่วนสูง ขนาดของร่างกาย เป็นต้น ความเข้ากันได้ทางกายภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นในลำดับต้นๆของการพิจารณาเลือกคู่ ต่อเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กันไประยะหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างก็เริ่มตรวจสอบความเข้ากันได้ในเรื่องอื่นๆที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นต่อไป
         
          2. สถานภาพทางสังคม เช่น การศึกษา อาชีพ ฐานะทางการเงิน ครอบครัว ชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ซึ่งบางศาสนามีข้อบังคับเข้มงวดว่า ต้องเป็นศาสนาเดียวกัน หรือ ต้องเปลี่ยนศาสนาก่อนจึงจะประกอบพิธีแต่งงานกันได้ กรณีเช่นนี้ก็จะเพิ่มข้อจำกัดของความเข้ากันได้ขึ้นอีก
          
           3. บุคลิกภาพ ได้แก่ คุณลักษณะต่างๆที่สามารถสังเกตเห็นได้ภายนอก เช่น การแต่งกาย การพูดจา กิริยาท่าทาง ภาษากาย การแสดงออกทางอารมณ์ รวมถึงค่านิยมและรสนิยมในเรื่องต่างๆซึ่งเป็นตัวกำหนดแบบแผนการดำเนินชีวิต ส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ต้องใช้สัมผัสที่หก เช่น ความคิดความอ่าน การใช้เหตุผล เป็นคนมีหลักมีเกณฑ์ดีไหม นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบ ความจริงใจ ความมีน้ำใจ ลึกลงไปสู่คุณธรรมด้านต่างๆที่บ่งบอกถึงระดับของพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ
          
            4. สติปัญญา  หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงระดับการศึกษา ต้องไม่ต่างกันมากนัก งานวิจัยของ Neil Clark Warren ผู้ก่อตั้ง eHarmony.com และเป็นผู้ออกแบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยเพื่อการหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ข้อเสนอแนะว่า ระดับสติปัญญาของคู่สมรสควรมีค่าแตกต่างกันไม่เกินกว่า 1 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (1 standard deviation หรือ 1 SD) คือ ค่าของ IQ ที่แตกต่างกันไม่มากไปกว่า +/- 10

                ในเรื่องของความเข้ากันได้นี้ อาจมีรายละเอียดอื่นๆได้อีกมากนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไป  ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนไม่ควรละเลย แต่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากมันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตคู่ เชื่อว่า คงไม่มีคู่รักใดที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่า คนๆนี้จะเป็นคนรักคนที่หนึ่งของฉัน หลังจากห้าปีผ่านไป ฉันก็จะมีคนที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ หากจะมีกรณีเช่นนี้อยู่บ้าง บุคคลผู้นั้นก็คงมีเหตุผลส่วนตัวและคิดว่าการมีชีวิตเช่นนั้นมีความเหมาะสมสำหรับเขามากกว่าแบบอื่น
                 
                ในชีวิตจริงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะพบคนรักที่ถูกใจจนหาที่ติไม่ได้  เริ่มจากวิธีการพบกันของคนสองคนก็มักแตกต่างกันไปตามภาวะแวดล้อมทางสังคม เช่น ทำงานในที่เดียวกันหรือใกล้ๆกัน บางคู่เริ่มจากความเป็นเพื่อน จากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาเป็นความรัก  อาจพบกันในงานสังคม  งานเลี้ยงต่างๆ ในสถานการณ์เหล่านี้เป็นการยากที่คนสองคนจะมานั่งตรวจสอบคุณสมบัติของความเข้ากันได้ทั้งหมด  สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือคนทั้งสองจำเป็นต้องใช้เวลาคบหาเพื่อค้นหาตัวตนของอีกฝ่ายกันไปสักระยะหนึ่ง  นักวิชาการชื่อ Diane  Sollee  ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กร Coalition for Marriage, Family and Couples Education ไม่เชื่อว่าจะมี คู่รักที่เข้ากันได้ (There is no such thing as a compatible couple) เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะมีอะไรเหมือนๆกันไปเสียทุกอย่าง ประเด็นอยู่ที่ว่าคนสองคนที่มีความรักให้กันนั้น จะมีวิธีบริหารจัดการความแตกต่างที่มีอยู่ได้ดีเพียงไร  ดังนั้น……………….

                          ความเข้ากันได้จึงเป็นสิ่งที่คนเราต้องสร้างมันขึ้นมา

                  คู่สมรสแบบคลุมถุงชนในสมัยก่อน อาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับยืนยันความเชื่อนี้ เพราะเราจะพบว่า คนสมัยก่อนที่แต่งงานกันโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจัดหาคู่ให้ก็สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขจนแก่เฒ่าเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจมีข้อโต้แย้งได้มากเช่นกันว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป คนสมัยนี้ไม่อดทนเหมือนเมื่อก่อน ใจร้อน เอาแต่ใจ ไม่คิดถึงคนอื่น ทำให้เกิดมีข้อโต้แย้งกลับมาว่า ก็ทำไมต้องอดทนด้วยล่ะ อยู่กันแล้วไม่มีความสุข จะทนอยู่กันไปทำไม ในที่นี้จึงขอละเอาไว้เพียงนี้ เพราะคงเถียงกันไม่จบ

                  แนวคิดทำนองนี้สอดคล้องกับ Robert Epstein นักจิตวิทยาผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคู่รัก ท่านได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อความเข้ากันได้ของคู่รัก แต่ไม่มีใครที่จะสามารถบอกได้ว่า บุคลิกภาพแบบไหนเหมาะสมกันหรือเข้ากันได้มากที่สุด เพราะในชีวิตจริงเราพบว่าคู่รักบางคู่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่พวกเขาก็สามารถอยู่กันได้อย่างมีความสุข ในขณะที่คู่ซึ่งดูจะมีอะไรเหมือนๆกัน แต่อยู่กันไม่นานก็ต้องหย่าร้างกันไป  
               
                  ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คนทั้งสองมีความสามารถที่จะพัฒนาทักษะด้านการสร้างสัมพันธภาพ (Relationship skills) หลังแต่งงานได้ดีเพียงไร ซึ่งเป็นเรื่องของ ระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Quotient-EQ) สิ่งที่มีความสำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ระดับคุณธรรม ศีลธรรม (Moral Quotient-MQ) และ จิตวิญญาณ (Spiritual Quotient-SQ) ก็ไม่ควรต่างกันมากนัก เพราะในระยะยาวอาจจะมีปัญหาในการสนทนาและการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

หัวข้อนี้ผมอ้านเป็น10รอบ สำหรับหัวข้อความเข้ากันได้ แต่ยังคงสงใส ในที่คนสองคนมีอะไรที่คล้ายๆกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่สามารถทำครองรักกันได้ยืนยาว แต่ด้วยเหตุปัจจัยจากทั้งภาย นอกและภายใน หมายถึงการดำรงค์กิจประจำวัน เช่นการงานที่เคร่งเคลียด การเก็บ เอาเรื่องราวต่างๆที่ไม่ควร มาเป็นปัญหาภายในบ้าน และอาจบวกกับ สภาพจิต ที่ตกต่ำ ทำให้ ในภาวะหนึ่งไม่สามารถครองคู่กันต่อไปได้ ทำให้เกิดการร้างลา และทิ้งรอยแผลอันฉกัน ไว้แก่บุตรซึ่ง ทำให้เป็นผลต่อเนื่องเหมือน ลูกโซ่สืบทอด กันรุ่นต่อรุ่น ทำให้เป็นปัญหา แทบจะเรียกได้ว่าไม่จบสิ้น ข้อนี้ จึงมีความสำคัญมากๆ ความเข้ากันได้ ปมให้ความสำคัญกับข้อนี้เป็นพิเศษ ในบล็อกของคุณหมอครับ ขอบคุณมากๆครับที่สร้างบล็อกดีๆนี้ไว้ ให้ผมและผู้ที่มีปัญหาอยู่ได้นำไปเผยแพร่ ต่อเป็นประโยชน์ เรียกได้ว่าน้อยนิดที่มหาศาลครับ ด้วยความนับถือ เอกชนพงศ์