วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บุคลิกภาพกับความรัก (2)


การศึกษาประเภทของบุคลิกภาพ (The Personality Type Test)

                กุมภาพันธ์ 2006  Dr. Helen Fisher เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้วยแบบสอบถามที่วัดระดับความมากน้อยของบุคลิกภาพแบบต่างๆของแต่ละคน (ทุกคนมีบุคลิกภาพผสมในสัดส่วนที่ต่างกัน)  มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 7 ล้านคน โดยที่ 1.8 ล้านคนอยู่ใน 34 ประเทศ ที่เหลืออยู่ในสหรัฐอเมริกา  จากข้อมูลชุดนี้ Dr. Fisher ได้นำไปสร้างแบบสอบถามชุดที่สองซึ่งมีความละเอียดมากขึ้นในแง่มุมต่างๆของชีวิต เช่น  ความสนใจเรื่องการเมือง  อาชีพ  ศาสนา  การเลือกที่อยู่อาศัย  ลักษณะของเพื่อนที่คบ  จำนวนครั้งที่เคยตกหลุมรัก  การให้ความสำคัญในเรื่อง sex ต่อชีวิตคู่  กิจกรรมในคืนวันเสาร์ ฯลฯ  มีผู้ตอบแบบสอบถามชุดนี้รวม 39,913 คน พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

·       อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ 37 ปี
·       เพศหญิง  56.4%  เพศชาย  43.6 %  ส่วนใหญ่คือ 89.6 %  มีเพศสัมพันธ์แบบปกติ   
·       บุคลิกภาพแบบ นักสำรวจ  26%, ผู้กำกับ 16.3%, ผู้สร้าง 28.6%, นักต่อรอง 29.1%

            Dr. Fisher ได้ทำการวิจัยต่อไปในหัวข้อ วิธีการเลือกคู่ (Mate Choice Study) เพื่อดูว่าบุคลิกภาพที่แตกต่างกันจะมีวิธีการเลือกคู่ต่างกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 28,128 ราย พบว่า
·       นักสำรวจ   มักจะเลือก   นักสำรวจ ด้วยกัน
·       ผู้สร้าง        มักจะเลือก   ผู้สร้าง     ด้วยกัน
·       ผู้กำกับ       มักจะเลือก   นักต่อรอง
·       นักต่อรอง   มักจะเลือก   ผู้กำกับ        
              
สำหรับกลุ่ม ผู้กำกับ และ นักต่อรอง มีแรงดึงดูดเข้าหากันด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขามี ลักษณะอารมณ์ที่เสริมซึ่งกันและกัน  ต่างฝ่ายจึงรู้สึกเติมเต็มเมื่อได้อยู่ร่วมกัน      

ผลสรุปนี้ เป็นคำตอบสำหรับความเชื่อ 2 ประการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ

            ความเชื่อที่ 1  คนเรามักเลือกคนรักที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับตัวเอง เพื่อเติมเต็มส่วนขาด
            ความเชื่อที่ 2  คนเรามักเลือกคนรักที่มีลักษณะคล้ายกับตัวเอง

ถูกครึ่งหนึ่ง และก็ ผิดครึ่งหนึ่ง เพราะมันขึ้นกับบุคลิกภาพของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

การหาคู่ทาง Internet
               สำหรับคู่รักที่รู้จักกันทาง Internet แล้วลงเอยกันด้วยดีนั้น พวกเขารู้ได้อย่างไรว่า คนไหนใช่ หรือไม่ใช่ เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะมีคำอธิบายที่พอยอมรับกันได้ด้วยเหตุผลทางวิชาการ คือ
                   
                    1. ใบหน้า         
                นอกเหนือจากความสมมาตรและสมส่วน (Symmetry) และความงดงาม ดังที่กล่าวไว้ในบทเสน่ห์ทางเพศและความมีเสน่ห์แล้วนั้น ใบหน้ายังบอกอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบอกได้ถึงอุปนิสัยใจคอ ลึกลงไปถึงความคิด (ตามหลักโหวงเฮ้งของจีน) สำหรับเหตุผลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น การใช้ความรู้ในเรื่อง ฮอร์โมนเพศ มีส่วนช่วยให้เข้าใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ดังนี้
              
              1.1  ฮอร์โมนเพศชายสูง  มักส่งผลให้มีคิ้วดกหนา หน้าผากกว้าง กรามใหญ่เป็นรูปเหลี่ยม ช่วงคางกว้าง โหนกแก้มสูงนูนเด่น คุณอาจสังเกตใบหน้าของคนรู้จักที่มีบุคลิกภาพแบบ ผู้กำกับ ซึ่งมักมีตำแหน่งเป็น ผู้บริหาร  คุณลองเก็บสถิติอย่างเงียบๆไปสักพัก แล้วดูตัวเลขที่ออกมาว่า สมมุติฐานนี้มีส่วนถูกต้องมากน้อยเพียงไร
              
               1.2  ฮอร์โมนเพศหญิงสูง  มักส่งผลให้มีผิวพรรณที่เนียนเรียบ คิ้วบาง จมูกเล็ก รูปหน้ากลม ริมฝีปากเต็ม ดูอ่อนกว่าวัย  เช่นเดียวกัน คุณลองสังเกตลักษณะดังกล่าวในคนที่มีบุคลิกภาพแบบ นักต่อรอง แล้วเก็บสถิติไปเรื่อยๆเพื่อยืนยันสมมุติฐานนี้
      
                    2. คำพูด
                 ในภาวะอารมณ์ปกติ  ความคิดและอารมณ์ของคนเรามักถูกถ่ายทอดออกมาทางคำพูดโดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว  คำพูดประเภทตลกใต้สะดือ (Dirty Jokes) Freud อธิบายว่า นั่นคือความคิดและความต้องการที่แท้จริงซึ่งถูกกดเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก แต่ผู้พูดพยายามทำให้มันเป็นเรื่องตลก เพราะได้รับการยอมรับง่ายกว่า ดูเนียนกว่า หากพูดในลักษณะจริงจังจะถูกมองว่าเป็นพวกสัปดนหรือหมกมุ่นในเรื่องเพศ 

ไม่มีความคิดเห็น: