วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บุคลิกภาพกับความรัก (1)


บุคลิกภาพ กับ ความรัก
             
             มนุษย์สนใจเรื่องบุคลิกภาพมานานนับพันปี ชาวจีนมีศาสตร์ของตนเองชื่อว่า โหงวเฮ้ง เอาไว้ทำนายนิสัยใจคอจากใบหน้า  ปราชญ์ชาติอาหรับมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้มากว่าหนึ่งพันปี โดยที่ชาวตะวันตกเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้และนำออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในชื่อว่า Enneagram ซึ่งนักวิชาการชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้ถ่ายทอดออกมาในชื่อ  “นพลักษณ์” 

             ชาวยุโรปเริ่มสนใจเรื่องบุคลิกภาพในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และศึกษากันอย่างจริงจังในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง หนึ่งในนักวิชาการที่เขียนผลงานไว้มากมายและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud-1856-1939) แพทย์ระบบประสาทและนักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานให้กับวิชาจิตวิทยาและโรคทางจิตเวชสมัยใหม่
             
             ในระยะหลังๆที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญมากขึ้นนั้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เรียกว่าเครื่อง (Positron Emission Tomography-PET Scan) ทำให้ทราบว่าสมองส่วนใดทำหน้าที่อะไร เช่น เวลาที่ใช้ความคิด หรือมีอารมณ์โกรธ ทั้งยังสามารถบอกได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีตัวใดอีกด้วย  แน่นอนว่า ความรัก เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการศึกษาด้วยเครื่องมือนี้ นักวิชาการที่ได้ทำการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์รักกับสารเคมี ไว้อย่างมากท่านหนึ่งคือ Dr. Helen  Fisher นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ด้านการวิจัยสาขามานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rutgers มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ท่านต้องการทราบว่า คนที่ตกอยู่ในอารมณ์รักนั้น สมองส่วนใดบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลง และสารเคมีตัวใดบ้างที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง (อ่านเพิ่มเติมในบทสารเคมีและฮอร์โมนแห่งรัก) จากนั้นท่านได้ประมวลองค์ความรู้ต่างๆเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีในสมองกับลักษณะเฉพาะทางอารมณ์ รูปแบบการดำเนินชีวิต ความชอบในบางเรื่อง และอุปนิสัยส่วนตัว ซึ่งก็คือเรื่องของบุคลิกภาพนั่นเอง ท่านได้ข้อสรุปว่า บุคลิกภาพ เมื่อพิจารณาจากสารสื่อประสาทต่างๆ แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
                 
                  1.     นักสำรวจ (Explorers)  ลักษณะเด่น คือ
·   ชอบความแปลกใหม่ ท้าทาย และเสี่ยง
·   มักทำอะไรอย่างกะทันหัน
·   มีพลังมาก (Energetic) ไม่ใช่มีแรงมากหรือเป็นคนร่างกายแข็งแรง แต่หมายถึง เป็นคนไม่อยู่นิ่ง  ชอบทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ออกแนว hyper  หน่อยๆ
·    อยากรู้อยากเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น แต่ยังรู้จักยืดหยุ่นพอควร
·    มองโลกในแง่ดี บางครั้งอาจจะดีเกินไปจนทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อน
                         
                         สารเคมีที่ทำให้เกิดลักษณะนิสัยเช่นนี้คือ……………. โดปามีน (Dopamine)
                   
                  2.     ผู้สร้าง (Builders) ลักษณะเด่นคือ
·   สงบเยือกเย็น มั่นคง ซื่อสัตย์  ภักดี
·   ชอบความเป็นระเบียบ  เคารพกฎเกณฑ์  ยึดมั่นในความถูกต้องและความจริง
·    ระมัดระวังสูง แต่ไม่ถึงกับระแวงหรือขี้กลัว
·    มีทักษะทางสังคมสูง เก่งด้านการเข้าหาคน การสร้างเครือข่ายและบริหารงานบุคคล
·    หัวอนุรักษ์  ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี
                    
                         สารเคมีที่ทำให้เกิดลักษณะนิสัยเช่นนี้คือ………………เซโรโทนิน (Serotonin)
                     
                  3.     ผู้กำกับ (Directors) ลักษณะเด่นคือ
·    ชอบควบคุมกำกับผู้อื่น เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบตัดสินใจด้วยตัวเอง
·    สมาธิจดจ่อในเรื่องที่กำลังสนใจทำได้ดีมาก
·    เป็นนักวิเคราะห์ที่ยึดหลักตรรกะ มีความคิดเชิงกลยุทธ์ดี
·    จิตใจเข้มแข็ง ไม่กลัวใคร รักความถูกต้องเที่ยงตรง เจ้าอารมณ์ ดื้อรั้น ชอบการแข่งขัน
·    เก่งด้านคณิตศาสตร์ เครื่องยนต์กลไก เรื่องที่ใช้ทฤษฎีและกฎเกณฑ์เป็นหลักในการคิด
·    หลายคนเก่งด้านดนตรี สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์และโครงสร้างทางดนตรีเป็นอย่างดี
                    
                         สารเคมีที่ทำให้เกิดลักษณะนิสัยเช่นนี้คือ…………….. .เทสทอสเตอโรน (Testosterone)
                  
                  4.    นักต่อรอง (Negotiators) ลักษณะเด่นคือ
·    คิดเชิงระบบ  มองภาพใหญ่  สามารถรวบรวมความคิดหรือความจริงย่อยๆมาประกอบกันเป็นภาพรวมได้ดี
·    มีอุดมการณ์และจินตนาการสูง
·    ทักษะสูงด้านการใช้ภาษาพูด
·    เก่งด้านการอ่านบุคลิกภาพของผู้อื่น โดยดูจากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ใบหน้า น้ำเสียง ท่าทาง การเคลื่อนไหว
·   มีญาณแห่งการหยั่งรู้หรือลางสังหรณ์ (Intuitive) ดี  
·       เห็นอกเห็นใจ  เสียสละ ชอบการพัฒนา
·       ยืดหยุ่น คุยง่าย
                    
                         สารเคมีที่ทำให้เกิดลักษณะนิสัยเช่นนี้คือ……………..  เอสโตรเจน (Estrogen)

               คนเราแต่ละคนมีบุคลิกภาพผสม คือ มีอุปนิสัยหลายๆอย่างรวมกัน  เพราะในสมองของเรามีสารเคมีทุกตัวในอัตราส่วนที่ต่างกัน ความเด่นชัดในลักษณะใดลักษณะหนึ่งจึงเกิดจากความมากน้อยของสารเคมีแต่ละตัว  DR. Helen Fisher  เชื่อว่า ความแตกต่างนี้เป็นมาแต่กำเนิด (Nature) เป็นเรื่องของพันธุกรรมทางอุปนิสัยที่เกิดจากยีนเฉพาะตัว (inherited particular genes) ซึ่งเป็นตัวกำหนดอารมณ์โดยกำเนิด (Temperament)  นับเป็นแนวคิดที่ท้าทายต่อการค้นคว้าวิจัยต่อไปว่า genes เหล่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ และอยู่ที่โครโมโซมคู่ใดบ้าง ท่านเรียกแนวคิดนี้ว่า ชีววิทยาของบุคลิกภาพ” ( The Biology of Personality) ซึ่งต่างจากแนวคิดเดิมที่เชื่อว่า บุคลิกภาพของคนเราเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดู จารีต ประเพณี ค่านิยม ความเชื่อประจำถิ่น หลักศาสนา การศึกษา ฯลฯ  (Nurture)
              
                ถึงตอนนี้ คุณเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมว่า บุคลิกภาพของคุณเป็นแบบไหน และจะหาแฟนที่มีบุคลิกภาพแบบใดจึงจะเข้ากันได้ดี และมีความสุขในชีวิตคู่ตลอดไป

ในตอนหน้า ผมจะพูดถึงผลการศึกษาประเภทของบุคลิกภาพของ Dr. Fisher เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า บุคลิกภาพแบบไหนจึงจะเหมาะสมกัน รวมทั้งวิธีการหาคู่ทาง Internet ว่า พวกเขาใช้หลักเกณฑ์อย่างไรกันบ้าง น่าสนใจครับ

ไม่มีความคิดเห็น: