วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ความรัก 9 ขั้นตอน


            ท่านคงจะเคยสงสัยมาก่อนเวลาได้ข่าวว่า เพื่อนคนนั้น ดาราคนโน้น ประกาศแยกทางกันทั้งๆที่ดูเหมือนว่าพวกเขารักกันมาก หรืออาจเคยฟังคำตัดพ้อของเพื่อนสนิทพูดถึงแฟนว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่เหมือนเมื่อก่อน ไม่ค่อยสนใจดูแล ไม่เอาใจเหมือนตอนรักกันใหม่ๆ
เกิดอะไรขึ้นระหว่างเขาทั้งสอง?  พวกเขาไม่รักกันแล้วหรือ?
เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ ผมจึงขอนำเอาหัวข้อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เต็มใจยอมรับ มาเล่าให้ท่านฟังกัน ขอตั้งหัวข้อว่า ความรัก 9 ขั้นตอน ก็แล้วกันนะครับ มีอะไรบ้างเชิญติดตามกันได้เลย
         1.  รักในจินตนาการ (Imaginary Love)
              เมื่อคนเรามีอายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็มักจะเริ่มคิดถึงเรื่องความรัก แต่ละคนจะมีจินตนาการเกี่ยวกับคนรักแตกต่างกันไปตามความเชื่อ และทัศนคติของตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการปลูกฝังโดยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู รวมทั้งข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น นิยายรัก ภาพยนตร์รักโรแมนติก เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ฯลฯ ก่อเกิดเป็น ความรักในจินตนาการ (Imaginary Love) ขึ้นมา หลังจากนั้นสัญชาติญาณในตัวเราจะพยายามทำหน้าที่ของมันเมื่อโอกาสมาถึง นั่นก็คือ
         2.  รักแรกพบ (love at first sight)
             จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว โดยมีตัวกระตุ้นอันทรงพลังที่เรียกว่า แรงขับทางเพศ (sex drive) ในตัวของเราแต่ละคน นำทางเราออกแสวงหาบุคคลพิเศษที่มี เสน่ห์ทางเพศ (sex appeal) เป็นที่ถูกตาต้องใจเรา เมื่อสองสิ่งนี้เดินทางมาบรรจบกันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ของความรักในขั้นตอนต่อๆไป
          3.  ความหลงรัก (Infatuation, Infatuated love)
                  คนที่กำลังมีความรักในช่วงต้นๆ เรามักพูดว่า คนๆนั้นกำลัง ตกหลุมรัก ทำให้เห็นภาพได้สมจริงมากขึ้น เพราะคนที่ตกลงไปในหลุมก็มักจะมีอาการบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้าง บางคนตกลงไปในหลุมที่ลึกจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ขึ้นมาจากหลุมได้ ส่วนคนที่อาการหนักสักหน่อยก็เปรียบเปรยว่าตกลงไปใน ห้วงรักเหวลึก คือหนักหนากว่าคนตกหลุมตื้นๆ  คนที่กำลังมีความรักในระยะนี้จะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องคนที่เขาหรือเธอแอบรักจนไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน แต่จะเต็มไปด้วยแรงปรารถนาที่จะหาโอกาสสร้างสัมพันธภาพรักให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เหตุผลหนึ่งเพราะกลัวมีใครจะมาแย่งชิงไปครองเสียก่อน บางรายถึงแม้จะรู้ว่าเขาหรือเธอมีคนรักอยู่แล้วก็ไม่วายที่จะพยายามทำให้คนที่ตนหลงรักเปลี่ยนใจ ความรักแบบนี้จึงเป็นความหลง เป็นเรื่องของอารมณ์อันเกิดจากการหลงใหลในเสน่ห์ทางเพศ
          4.  การเกี้ยวพาราสี (Courting) 
               เกิดขึ้นได้เมื่อความกล้าอยู่เหนือความกลัว โดยทั่วไปเพศชายมักเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เริ่มด้วยพฤติกรรมจิตอาสาบริการต่างๆ ทำทุกอย่างให้ด้วยความยินดี มีความสุขอันเกิดจากความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอีกฝ่ายมีการตอบสนองที่ดี มีความจริงใจไม่หลอกลวง ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาและการลงทุนไม่นานก็สามารถก้าวไปสู่ขั้นต่อไป
              5.  ระยะรักหวานซึ้ง (Romance, Romantic Love)
           กระบวนการสร้างสายสัมพันธ์แห่งรักจะเดินหน้าต่อจากขั้นเกี้ยวพาราสีไปสู่การอุทิศทุ่มเทเวลาให้แก่กัน มีกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกันมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายต่างเรียนรู้อุปนิสัยของกันและกัน ตรวจสอบรสนิยม ค่านิยม ความเชื่อ ปรัชญา เป้าหมายของชีวิต คุณภาพทางความคิดที่ลึกซึ้งมากขึ้น นับเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ดีเพราะจะมีเหตุการณ์ที่น่าประทับใจเกิดขึ้นมากมาย น่าเสียดายที่ของดีมีน้อย ผลจากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการด้านนี้ พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของความรักระยะ romantic นี้จะยืนยาวอยู่เพียง 6-18 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นความรู้สึกของคนทั้งสองจะเปลี่ยนไป ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเซลสมองเริ่มดื้อต่อสารเคมีที่ทำให้เกิดความสนุกตื่นเต้นมีชีวิตชีวา ประกอบกับความแปลกใหม่ น่าท้าทาย ชวนให้ค้นหาลดลง ในด้านหนึ่งนับเป็นช่วงอันตรายสำหรับฝ่ายหญิงหากคบกับผู้ชายที่เป็นโรคเสพติดรักประเภท Romantic love addicts ซึ่งจะได้กล่าวถึงอีกครั้งโดยละเอียดในบทที่ว่าด้วย โรคเสพติดรัก แต่หากทั้งสองมีความเข้ากันได้ดี มีหลายอย่างที่เหมาะสมกัน ความรักก็สามารถเดินหน้าเข้าสู่ระยะต่อไปได้
          6.  ความผูกพัน (Attachment)
               เมื่อความรักระหว่างหนุ่มสาวดำเนินมาด้วยดีจนถึงจุดหนึ่ง ต่างมีความรู้สึกผูกพันกันมากขึ้นจนกระทั่งรู้สึกว่าแยกจากกันไม่ได้ ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตลอดไป เป็นความรู้สึกผูกพันกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันจนถึงระดับที่ไม่ต้องการรอคอยอะไรอีกต่อไป ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายจะเริ่มมีความคิดว่า ต้องทำให้เกิดความชัดเจนเสียที ก้าวต่อไปจึงเกิดขึ้น นั่นก็คือ การตัดสินใจและการให้คำมั่นสัญญา
             7.  การตัดสินใจ (Decision) และ การให้คำมั่นสัญญา (Commitment)
              ในขณะที่ความรักกำลังดำเนินไปนั้น คู่รักทั้งสองจะเกิดความรู้สึกผูกพันต่อกันขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งถึงจุดที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความต้องการที่จะอยู่กับคนรักตลอดไป จึงต้องตัดสินใจบอกรักกับอีกฝ่าย รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาต่างๆเกี่ยวกับการสร้างอนาคตร่วมกัน หากเป็นความต้องการที่ตรงกัน เรื่องราวต่อจากนั้นจะง่ายขึ้น แต่หากอีกฝ่ายยังไม่มั่นใจหรือไม่พร้อมด้วยเหตุผลอื่นๆ ก็อาจมีการประวิงเวลาออกไป ความราบรื่นของความรักในคู่รักแต่ละคู่ย่อมแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย  ขั้นตอนนี้จึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาได้มากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่ายหนึ่งเป็นคนรักประเภทเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ หึงหวงรุนแรง (Manic lover) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ว่าด้วย ประเภทของความรัก หากสามารถผ่านด่านนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
        8.  ความผูกพันอันเกิดจากความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง (Intimacy)
              เมื่อคู่รักทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความเข้าใจ ให้เกียรติและจริงใจต่อกัน ความรักของคนทั้งสองจะเจริญงอกงามขึ้นตามกาลเวลา ยากที่จะมีสิ่งใดมาขวางกั้น นอกจากอุบัติเหตุทางอารมณ์ที่เกิดจากความประมาทพลั้งเผลอ
          9.  ความรักขั้นสมบูรณ์ (Consummate love)
            เป็นความรักที่มีองค์ประกอบหลักครบ แต่สัดส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ความรักแบบเสน่หาหรือความต้องการทางเพศลดน้อยถอยลงตามวัยที่มากขึ้นในขณะที่ความผูกพันทางใจ ความเป็นเพื่อนคู่ใจ (Companionate lover) และความมั่นคงต่อสัญญาใจระหว่างกันมีเพิ่มมากขึ้น คู่รักใดที่ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆในชีวิตมาถึงจุดนี้ได้ ย่อมหมายความว่า ได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแห่งรักแล้ว คู่รักทั้งสองจะเกิดความปีติและอิ่มเอมใจในรักขั้นสูงสุด อย่างไรก็ตาม ความรักขั้นนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในวัยสูงอายุ หากคู่รักนั้นมีปัจจัยเกื้อหนุนเพียงพอ ความรักก็จะมีพัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน คู่รักสูงวัยจำนวนไม่น้อยกลับมีความไม่ลงรอยกัน ทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำจนบั่นทอนความสุขในชีวิตบั้นปลายอย่างน่าเสียดาย

สำหรับท่านที่กำลังมีความรักอยู่ในเวลานี้   ความรักของท่านเดินทางมาถึงขั้นตอนที่เท่าไหร่แล้วครับ
ครั้งต่อไปเป็นหัวข้อที่ถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความรักขึ้น เสน่ห์ทางเพศและความมีเสน่ห์




ไม่มีความคิดเห็น: