วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเภทของความรัก (3)


วันนี้ผมขอพูดถึงประเภทของความรักซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการชื่อ  Beverly Fehr มาเล่าให้ฟังอีกสักคนหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนหัวข้อในครั้งต่อไป เธอได้แบ่งความรักออกเป็น 9 ประเภท คือ

1.           1.  ความรักแบบเมตตา (Affection, Affectionate Love)  ลักษณะสำคัญคือ มีความเมตตากรุณา ห่วงใยเอาใจใส่ดูแล ยินดีช่วยเหลือ ทำสิ่งต่างๆให้ พร้อมที่จะแบ่งปัน อยู่ใกล้แล้วรู้สึกอบอุ่นมีความสุข สัมผัสได้ถึงความจริงใจ เป็นความรักที่มีความหมายกว้างๆ เช่น ความรักความเมตตาที่มีต่อผู้ด้อยโอกาส คนยากจน คนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น แล้วรู้สึกเกิดความเมตตาอยากช่วยเหลือ กรณีที่นำมาใช้ในความหมายของคู่รักก็ จะต้องมีลักษณะเด่นดังกล่าวนี้อย่างชัดเจนนอกเหนือจากความรู้สึกเสน่หาในแบบหนุ่มสาวที่รักกัน 

2.           2. ความรักความใคร่ (Sexual Love)  เป็นความรักที่มีเรื่องของความใคร่หรือตัณหาราคะเป็นองค์ประกอบหลัก ความสนใจในเพศตรงข้ามถูกกระตุ้นด้วยเสน่หาทางเพศจากรูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงสิ่งปรุงแต่งอื่นๆ เช่น จริต น้ำเสียง การแต่งกาย กลิ่นน้ำหอม ฝ่ายที่เกิดความพึงพอใจจะมีความกำหนัดและรู้สึกตื่นเต้นทางเพศสูง แรงจูงใจในการคบหากันมีเป้าหมายอยู่ที่การมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก หากมีความต้องการตรงกันจะเกิดความผูกพันตามมาอย่างรวดเร็ว มีความหลงใหลถวิลหากันอยู่ตลอดเวลาไม่ต่างกับคนติดยาเสพติดที่พอหมดฤทธิ์ยาก็อยากเสพอีก จากอารมณ์ความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนความต้องการทางเพศเป็นหลักเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่อยู่ในอารมณ์รักช่วงนี้ชีวิตเหมือนตกอยู่ในไฟแห่งราคะ เกิดความร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ความต้องการทางเพศได้รับการตอบสนองเป็นครั้งๆไป กระบวนความคิด การใช้เหตุผล และความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมด้วยปัญญา เพราะขณะนั้นสติขาดผึงไปแล้ว นับเป็นความรักที่มีอันตรายมากหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดนอกใจขึ้นมาในช่วงที่ความรักกำลังดำเนินมาอยู่ในระยะนี้ เพราะความหึงหวงจะรุนแรงมาก

3.             3. ความรักแบบเพื่อน (Platonic Love)  เป็นความรักแบบเพื่อนอย่างแท้จริง ไม่มีเรื่องความต้องการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เกิดจากความรู้สึกชอบพอนิสัยกันแบบมิตร รู้สึกห่วงใย อยากดูแลเอาใจใส่ให้อีกฝ่ายมีความสุข อยากทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขเวลาอยู่ด้วยกัน มีความไว้วางใจกัน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน ให้เกียรติกัน เป็นความรักที่มีความยั่งยืนยาวนาน อย่างไรก็ตามเมื่อถึงจุดหนึ่ง ความรักประเภทนี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นความรักในแบบคู่รักได้ในที่สุด

         4. ความรักแบบหวานซึ้ง (Romantic Love)  พบในวัยหนุ่มสาวมากกว่าวัยอื่น เป็นความรักที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้น มีชีวิตชีวา อยากพบหน้าคนรักตลอดเวลา เต็มใจที่จะทำสิ่งต่างๆให้คนรักด้วยความยินดี มีทัศนคติที่ดีต่อคนรัก ถึงแม้ว่าในสายตาของผู้หวังดีจะไม่เห็นด้วย แต่ก็พร้อมที่จะแก้ต่างให้คนรักเสมอ ผู้ที่กำลังตกอยู่ในห้วงรักแบบนี้จะรู้สึกว่า คนรักของเขาคือคนที่ใช่ คือคนที่รอคอยมานาน ดีกว่านี้ไม่มีแล้ว ทั้งๆที่บางรายยังรู้จักกันไม่ดีพอ ดังคำโบราณว่า ความรักทำให้ตาบอด แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ความรักแบบนี้อยู่ได้ไม่นาน จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าอยู่ระหว่าง 6-18 เดือน จากนั้นก็จะเริ่มจืดจางลงอย่างรวดเร็ว เพราะต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้ค้นหาอีกต่อไป หมดระยะโปรโมชั่นแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปฝ่ายหญิงมักจะมีความสุขกับช่วงเวลารักแบบนี้ได้นานกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหญิงมักเข้าใจฝ่ายชายผิดเอาง่ายๆในเวลาที่ฝ่ายชายทำตัวไม่เหมือนเดิม เช่น ไม่ค่อยตามใจ เอาใจ พูดเพราะๆ หรือคอยบริการในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ฝ่ายชายเขาได้ผ่านระยะโรแมนติคไปเรียบร้อยแล้ว แต่เขาก็ยังรักอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ไปนอกใจกับใครที่ไหน เพียงแต่เขาไปคิดเรื่องที่ใหญ่กว่า เช่น เรื่องงานและการสร้างฐานะ (ไม่ได้แก้ตัวให้กับเพศเดียวกันนะครับ นี่พูดกันในภาคทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัติก็อาจมีเรื่องจริงที่ฝ่ายหญิงไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นได้) ที่ต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ในชีวิตจริงของปัญหาครอบครัวที่มาปรึกษานั้น พบว่ามักเริ่มต้นจากเรื่องนี้อยู่เสมอๆ จึงเป็นสิ่งที่คู่รักทั้งหลายควรมีความตระหนักเอาไว้ให้มากๆ หากมีความสงสัยไม่แน่ใจก็ควรที่จะยอมให้สอบถามกันได้  ดีกว่าปล่อยไว้จนสายเกินแก้ แต่เมื่อถามแล้วไม่มีมูลก็ควรยุติ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เกิดความระหองระแหง ทะเลาะเรื้อรังโดยไม่จำเป็น บางรายถึงขั้นต้องเลิกรากันไปเพราะทนความหึงหวงและไร้เหตุผลของคนรักไม่ไหว

         5. ความรักแบบเด็กๆ (Puppy Love) คำว่า puppy แปลว่า ลูกสุนัข ดังนั้น หากแปลตรงตัวก็แปลว่า ความรักแบบลูกสุนัข คือ เล่นกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันแทบจะไม่มีเวลาพัก น่าเอ็นดู แต่เมื่อนำมาใช้ในคนอาจมีความหมายและผลกระทบได้มากกว่า เพราะคนเราคิดและรู้สึกได้มากกว่าสัตว์ โดยเฉพาะมีความผูกพันและความหึงหวง โดยทั่วไปเป็นความรักของวัยรุ่นช่วงอายุ 12-15 ปี เป็นความรักแบบเด็กๆ มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ยังไม่ถูกกระตุ้นด้วยลักษณะทางเพศ ไม่มีความคิดที่จะมีเพศสัมพันธ์ เป็นเพียงความรู้สึกที่แปลกใหม่ต่อเพศตรงข้าม ถูกกระตุ้นและดึงดูดใจจากความน่ารัก ความมีเสน่ห์ ความคมเข้มของใบหน้า มักเป็นความรู้สึกแบบแอบชอบ แอบรักข้างเดียว เวลาพบหน้ากันหรืออยู่ใกล้ชิดกัน จะรู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง เหงื่อออกที่ฝ่ามือ เขินอาย หรือมีพฤติกรรมเงอะงะ คิดถึงยามไม่เห็นหน้า อาจฝันถึงมากน้อยขึ้นกับอาการรุนแรงมากน้อย มองเห็นแต่ด้านดีของคนที่ตนหลงรัก เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเร็วจนอาจดูจริงจัง แต่ก็หายไปได้เร็วเช่นกัน เจ็บปวดได้ขั้นรุนแรงหากไม่สมหวัง เช่น มีคนอื่นมาจีบแทน  หรือถูกปฏิเสธด้วยท่าที  

         6 . ความรักใคร่เสน่หา (Passionate Love) เป็นความรักที่มีเรื่องตัณหาราคะเป็นองค์ประกอบหลัก คนที่กำลังมีความรักในระยะนี้จะรู้สึกหลงใหลในเสน่ห์ทางเพศของเพศตรงข้ามอย่างมาก ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่เร้าร้อนอยู่ภายใน คิดถึงคนที่ตนหลงรักอย่างมากและอยากอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา เป็นห่วงเป็นใย อุทิศทุ่มเทจนดูไร้เหตุผล รู้สึกผูกพันอย่างมากทั้งๆที่เพิ่งรู้จักกัน รู้สึกว่าเขาหรือเธอดีพร้อม พฤติกรรมต่างๆที่แสดงออกไปก็เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายสนใจตนเองตัวอย่างพฤติกรรมเหล่านี้เช่น การชวนพูดคุย การแสดงมารยาททางสังคม การบริการที่น่าประทับใจต่างๆ การพูดตลก พูดหยอกล้อ หาโอกาสอยู่ใกล้ชิดกันบ่อยขึ้น เริ่มคำพูดลักษณะเกี้ยวพาราสี การสัมผัสร่างกาย สิ่งที่พึงระวังก็คือ ความรู้สึกทางเพศจะถูกกระตุ้นโดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทั้งสองฝ่ายต่างมีความรู้สึกตรงกัน ก็อาจลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหานานัปการตามมา

         7.  ความหลงใหลคลั่งไคล้ (Infatuation, Infatuated Love) เป็นความรักแบบหลงใหลคลั่งไคล้ในคุณลักษณะบางอย่างของคนที่หลงรัก เช่น ในหน้า เรือนร่าง รู้สึกประทับใจอย่างมากเมื่อแรกพบ รู้สึกหวั่นไหวหัวใจเต้นแรง รู้สึกหลงรักขึ้นมาทันทีดูราวกับว่าเคยเป็นคู่กันมาแต่ชาติปางก่อน พยายามทำความรู้จักทุกวิถีทางโดยเร็วที่สุด เพราะเกรงคนอื่นคว้าเอาไปก่อน เป็นความรักแบบบุ่มบ่ามผลีผลาม ไม่มีเหตุผลรองรับที่ดี เป็นเพียงความพึงพอใจรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เป็นความรักที่ไม่ยั่งยืน รักง่ายหน่ายเร็วเช่นเดียวกับ ความรักใคร่เสน่หา (Passionate love)

           8. ความรักตามสัญญาใจ (Committed love) เป็นความรักที่มีคำมั่นสัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีความเปิดเผย จริงใจ ซื่อสัตย์ เข้าใน ไว้วางใจกัน ให้เกียรติ นับถือกันและกัน เกิดจากการเรียนรู้ทำความรู้จักและมีพัฒนาการของความรักมาระดับหนึ่งแล้วจนเกิดความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เกิดความไว้วางใจและเชื่อมั่นศรัทธาในรักของกันและกัน อยากใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยาตลอดไป หากเป็นรักที่มีการพัฒนามาตามขั้นตอนและมีความลงตัวด้านอื่นๆด้วย เช่น ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้ากันได้ดี ก็จัดเป็นความรักที่ประสบความสำเร็จสูง เพราะมีความเข้าใจกันเป็นพื้นฐานที่มั่นคง   

        9. ความรักแบบเพื่อน (Friendship love) เป็นความรักในแบบที่เพื่อนพึงมีต่อกัน ถึงแม้จะเป็นเพศตรงข้าม ไม่มีความความรู้สึกเป็นแฟนกัน มีลักษณะเด่นบางอย่างเหมือนความรักแบบ ความรักตามสัญญาใจ (Committed love) ได้แก่ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความห่วงใย ต้องการช่วยเหลือหรือทำให้มีความสุข อยากทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน รู้สึกสะดวกใจที่จะคุยเรื่องกันได้ทุกเรื่อง

           Fehr  ยังได้ให้ทัศนะว่า เราทุกคนล้วนมีความรักทุกแบบผสมกันอยู่ในตัวเอง ต่างกันเพียงสัดส่วน และจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ชีวิต ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ ความคาดหวัง และทัศนคติ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการดำเนินชีวิตรักสำหรับชีวิตที่เหลือต่อไป      
        

           ผมขอจบหัวข้อประเภทของความรักแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าคงพอทำให้ท่านเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่เคยมีประสบการณ์รักที่พลาดหวังมาก่อน หัวข้อต่อไปๆจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ขอให้ท่านติดตามอ่านไปเรื่อยๆ ความรักของท่านก็จะเติบโตไปพร้อมๆกับความรู้ที่เพิ่มพูนทุกขณะ

            เรื่องต่อไปคือ " ทฤษฎีว่าด้วยความรัก "
       

ไม่มีความคิดเห็น: