วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเภทของความรัก (2)

4. Mania (Possessive love)
               เป็นความรักที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคนรักอย่างมาก หึงหวงรุนแรงเกินพิกัด ต้องการความมั่นใจจากคนรักอยู่เสมอ พื้นฐานมาจากความรักตัวเอง แต่ในส่วนลึกเป็นคนที่ขาดความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเอง การมีรักทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่า คนรักจึงเปรียบเหมือนสมบัติอันล้ำค่า มีความสุขกับความคิดที่ว่า " ฉันกำลังมีความรัก มีคนที่รักฉัน และมีคนที่ฉันรักมากๆ " เป็นผลรวมของความรักแบบ Eros และ Ludos  คนรักประเภทนี้มักหวาดระแวงคนรักมากเกินไป ไม่ค่อยยอมฟังเหตุผลเพราะเป็นคนเอาแต่ใจ ทำให้มีปากเสียงกันบ่อยๆ ไม่นานนักคนรักก็เกิดความเบื่อหน่ายเพราะรู้สึกขาดอิสรภาพ ความรักจึงมีความเปราะบางและเกิดปัญหาเป็นประจำ จนกระทั่งคนรักทนไม่ไหวอยากเลิกรา เมื่อใดก็ตามที่คนรักเริ่มตีตัวออกห่างหรือบอกเลิกจะรู้สึกโกรธจัดจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาจทำร้ายร่างกายคนรักอย่างรุนแรง เมื่อรู้ว่าสิ้นหวังจะไม่สามารถยอมรับได้และมักจบลงด้วยการฆ่าคนรัก ในกรณีที่คนรักไปมีรักใหม่ คนรักใหม่ก็อาจได้รับเคราะห์กรรมไปด้วย เรื่องราวของความรักแบบ " พิศวาสฆาตรกรรม " ทำนองนี้มีปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ น่าเสียดายที่สังคมไทยยังคงปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจเป็นเพราะว่า วิธีคิดของคนไทยส่วนใหญ่เวลามีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นก็มีคำอธิบายสำเร็จรูปอยู่แล้ว คือ เป็นเรื่องของ " โชคชะตาฟ้าลิขิต " จึงไม่ต้องเสียเวลาคิดหาทางแก้ไขอะไรทั้งสิ้น
              แท้จริงแล้วปัญหาต่างๆล้วนมีทางแก้ไขทั้งสิ้น หากเราไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม นี่เป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้ผมอยากเขียนบล็อกอยู่ในเวลานี้ เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ " ความรัก " ในทุกแง่มุมเท่าที่ผมจะสามารถถ่ายทอดได้ เมื่อผู้คนส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับใกล้เคียงกันก็จะสามารถลดช่องว่างของความเข้าใจผิดๆที่มีอยู่มากมาย คนที่มีความรู้อย่างถูกต้องก็ย่อมจะสามารถเลือกคนรักได้อย่างมีเหตุผล มีความรอบคอบมากขึ้น และได้คนรักที่เหมาะสมสามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อไปอย่างมีความสุข เรื่องนี้ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงกันอีกนานเพราะมีหลายด่านที่ขวางกั้นอยู่ เช่น ค่านิยม ความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรม หลักหรือกฏเกณฑ์ต่างๆทางศาสนา ไม่ว่าเราจะเรียกมันอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกท่านจะต้องตอบกับตัวเองให้ได้คือ สิ่งต่างๆดังกล่าวนั้นมันดีหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน หากผลเสียมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ผมคิดว่า ความรักของคนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่มาก เพียงแต่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับกัน เมื่อไรก็ตามที่คนรักของเราเปลี่ยนใจไปรักคนอื่น จะมีสักกี่คนที่ยอมปล่อยคนรักไปอย่างเต็มใจ ยอมรับความจริงว่าเขาหรือเธอไม่รักเราแล้ว (เพราะเราเองไม่สามารถทำให้เขารักและอยากอยู่กับเราอีกต่อไป) พร้อมทั้งรู้สึกชื่นชมยินดีที่เขาหรือเธอจะไปมีความสุขกับคนรักใหม่ ใครก็ตามที่ทำได้เช่นนี้ผมถือว่าคนๆนั้นมีรักแท้ให้กับคนรักโดยปราศจากข้อสงสัย หายากจริงๆครับ

ท่านลองหาภาพยนต์ต่อไปนี้ชมดูนะครับ แล้วจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า คนรักประเภทนี้มีลักษณะอย่างไร : Fatal Attraction, The Crush, American Beauty, Driver, There's Something more about Mary

5. Pragma (Logical Love)
                เป็นความรักที่ยึดหลักของความเหมาะสมคือ ความเข้ากันได้ในด้านต่างๆมากกว่าความรู้สึกระหว่างบุคคล เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ การศึกษา ฯลฯ เป็นผลรวมของความรักแบบ Ludos และ Storge ไม่มีความรู้สึกแบบเสียวกระสันรัญจวนจิต (Eros) เพราะไม่เคยผ่านขั้นตอนของการเกี้ยวพาราสีหรือความรู้สึกรักแบบหวานซึ้งตรึงใจในความเสน่หาทางเพศ (Romantic love) มาก่อน ในสมัยโบราณการแต่งงานระหว่างหนุ่มสาวเกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า " การคลุมถุงชน " ในปัจจุบันยังคงพบได้ในบางชุมชนที่มีวัฒนธรรมของตนเอง คู่รักที่เริ่มต้นแบบนี้ถึงแม้จะไม่เคยมีโอกาสศึกษาจิตใจกันมาก่อนหรือรู้สึกรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน เมื่ออยู่ด้วยกันไป มีความเข้ากันได้ในเรื่องสำคัญๆ เช่น นิสัย ค่านิยม รสนิยม เพศสัมพันธ์ มีความซื่อสัตย์ไม่นอกใจ ให้เกียรติกัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ก็ทำให้เกิดความรักต่อกันเพิ่มขึ้นตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุด (consummate love- ซึ่งจะพูดถึงในบท " ทฤษฎีว่าด้วยความรัก " ต่อไป) ได้เช่นเดียวกัน
               ในอีกความหมายหนึ่งที่กว้างขึ้น คือ ความรักที่คู่รักซึ่งอาจเริ่มรักกันในแบบธรรมชาติ พบเห็นกัน ถูกตาต้องใจกัน จีบกันจนเกิดความรักกันในระดับหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็คิดไตร่ตรองว่าเหมาะสมกันในด้านต่างๆหรือไม่ มากหรือน้อยเพียงไร หากพอที่จะยอมรับกันได้และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสานรักกันต่อไปก็ไม่เข้าข่ายนี้ เพราะเริ่มจากการรักกันตามธรรมชาติ และใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง เป็นการหาคู่ครองของคนโดยทั่วไปที่มีสติสัมปชัญญะปกติ

ภาพยนต์รักที่อาจทำให้ท่านเข้าใจความรักประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น เช่น As Good As It Gets, Big Fat Greek, Maid in Manhattan, Nothing Hill, Shakespeare in Love, Wedding, Pretty Woman

6. Agape (อ่านว่า อา-กา-เป้) (Selfless love)
                เป็นความรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ไม่มีอัตตา (Selfless) ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มีความเห็นอกเห็นใจ บางรายถึงขั้นสงสารอยากช่วยให้พ้นทุกข์หรือมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ สนใจดูแลคนรัก คอยช่วยเหลือยามเดือดเนื้อร้อนใจ ห่วงใย ใส่ใจดูแลอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นผลรวมของความรักแบบ Eros และ Storge ต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อคนรัก เสียสละอย่างน่ายกย่อง เช่น ยอมเสียสละความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเพื่อให้คนรักประสบความสำเร็จในชีวิตและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ จัดเป็นความรักที่สูงส่งที่สุด มักเกิดกับผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาทางศาสนา หากคู่รักเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความกตัญญู ไม่เป็นพวกปอกลอกหรือเห็นแก่ตัว ด้วยแล้ว ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในรักสูง เป็นคู่รักที่เหมาะสมลงตัวแบบหนึ่ง

ลองหาชมภาพยนต์ต่อไปนี้กันดูนะครับ: Casablanca, Forrest Gump, Man Loves a Woman, John Q

ตอนต่อไปผมจะนำเสนอประเภทของความรักของนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ติดตามอ่านกันนะครับ

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ก้อย:หนูจะลองไปชมภาพยนตร์​ที่หมอแนะนำนะคะ เพื่อเข้าใจและรู้จักความรักให้มากขึ้น ปล.หนังมันจะเก่าไปไหม๊อะคะ?