วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความรัก-เกมแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก (4)


วิธีสร้างดุลแห่งอำนาจระหว่างคู่รัก
              
                 ไม่่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆเช่นนี้ในระดับสังคม แต่เมื่อพิจารณาถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในระยะยาวแล้ว นับเป็นเรื่องน่าท้าทายที่สมควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ด้วยการที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกันในเรื่องต่อไปนี้
1.   ยอมรับว่า การใช้อำนาจระหว่างคู่รักนั้นมีอยู่จริงในสังคมและอาจจะมีอยู่ในครอบครัวของท่านเอง
2.   ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
3.   ยอมรับให้ได้ว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย คำว่า ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ไม่ควรมีการนำมาใช้ในทุกโอกาส เพราะคำๆนี้มีนัยแห่งความคิดเหยียดเพศหญิงอยู่ในที  ถึงแม้ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีผู้ชายต่อผู้ชายด้วยกันเวลาที่รู้สึกไม่พอใจกัน หรือก่อนจะมีเรื่องกัน อีกคำหนึ่งคือคำว่า ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้ หากยังยอมรับคำพูดในทำนองนี้กันอยู่ต่อไป หมายความว่า สังคมไทยคิดว่า ผู้หญิงไม่มีศักดิ์ศรี ใช่ไหม มีใครเคยได้ยินคำว่า ศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงกันบ้างไหม เวลาที่ผู้หญิงจะตบกัน พวกเธอกู่ก้องร้องตะโกนว่า ลูกผู้หญิงฆ่าได้ หยามไม่ได้ หรือเปล่า  ในมุมมองของผู้ชาย ลูกผู้หญิง ฆ่าได้ หยามได้กระนั้นหรือ  หากยังไม่สามารถแก้ไขทัศนคติที่กดขี่ทางเพศเช่นนี้ออกไปจากสังคมไทย เราทุกคนก็ต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันต่อไป ใครจะแน่ใจได้บ้างว่า สักวันหนึ่ง เรื่องราวร้ายๆเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเราเอง หรือกับลูกหลานของเราที่เป็น…………………..ลูกผู้หญิง    

โฉมหน้าใหม่ของการใช้อำนาจสำหรับชีวิตคู่
                  
                   เมื่อได้เรียนรู้ถึงพลังของ อำนาจเช่นนี้แล้ว คู่รักทั้งหลายจึงควรมีความตระหนักในเรื่องการใช้อำนาจของตนเองอย่างสมดุล  เริ่มจากการทบทวน ความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งเป็นตัวกำหนด ทัศนคติและค่านิยมผิดๆกันอย่างจริงจังในเรื่องบทบาทหน้าที่ของภรรยาและสามี เพื่อให้มีการแบ่งอำนาจและหน้าที่อย่างเหมาะสม ตระหนักและยอมรับความจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนต้องการเสรีภาพและความเสมอภาค หากเลือกเกิดได้ ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นทาส บ่าว ไพร่ เป็นลูกน้อง ลูกจ้าง ลิ่วล้อคนอื่น เพราะคนทุกคนรู้สึกถึงความมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนของตนเองทั้งสิ้น ในชีวิตครอบครัวจึงมีเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ฝ่ายหนึ่งต้องการมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง นั่นก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นคง  กลัวไม่ได้รับการยอมรับ  กลัวการถูกทอดทิ้ง  ซึ่งเกิดจากบาดแผลทางใจในวัยเด็กของผู้ใช้อำนาจนั่นเอง 
              
                   ปัญหาสังคมทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัว การเรียนรู้การใช้อำนาจอย่างผิดๆในวัยเด็กเป็นสาเหตุของการใช้อำนาจอย่างผิดๆในโรงเรียน, ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (การใช้อำนาจของรุ่นพี่ในพิธีรับน้องใหม่ที่ทำกันจนเป็นประเพณี ซึ่งบางสถาบันทำกันแบบถ่อยเถื่อนจนทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งต้องลาออกไป ที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นแทบทุกปี), ในที่ทำงาน-ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง, ในหน่วยงานราชการ-ระหว่างประชาชนกับข้าราชการที่มีความคิดล้าหลัง, ในห้องอาหาร-ระหว่างลูกค้าที่ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่ให้เกียรติ หรือ บนท้องถนนที่คนขับบางรายแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวพร้อมมีเรื่องกับทุกคน (ยกเว้นกับทหารและตำรวจส่วนหนึ่ง-ซึ่งพฤติกรรมสั่งสมจากอดีตทำให้คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขามีอำนาจมากกว่า)  จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงอำนาจของคนในสังคมทุกวันนี้ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข ระบบอำนาจในครอบครัว เป็นอันดับแรก                         
               
                             “เมื่อท่านแบ่งปันอำนาจอย่างสมดุลกับคนรัก อำนาจในตัวท่านจะเพิ่มขึ้น
                                      หากต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งกัน  อำนาจนั้นจะไม่เหลือให้ใครเลย
                           
                                         แล้วยังจะใช้อำนาจกันอยู่ทำไม…….กับคนที่คุณรัก

บทต่อไป ขอเชิญท่านพบกับ "กิ๊ก" ได้แล้วครับ 

ไม่มีความคิดเห็น: