ความกลัวทำให้เกิดความหึงหวงได้อย่างไร ?
ความกลัว
ถือเป็นรากเหง้าของความหึงหวง เป็นความกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการอยู่คนเดียว
กลัวความเจ็บปวดทางอารมณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน) กลัวว่าอนาคตจะขาดที่พึ่งยามแก่เฒ่า
ความกลัวในลักษณะเช่นนี้เกิดได้กับทุกคน ต่างกันที่เนื้อหาและความรุนแรง
ผู้ที่มีการนับถือตนเองต่ำ ขาดความมั่นใจในตนเอง
ไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษอะไร มักจะขาดความมั่นใจในคนรัก
เพราะระแวงว่าสักวันหนึ่ง เธอหรือเขาอาจพบคนที่ดีกว่า นอกจากนั้น อาจเกิดจากความกลัวที่เคยได้รับในในวัยเด็กซึ่งเกิดจากการถูกทอดทิ้ง
(และยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึก) หรือ กลัวความผิดหวังในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากรักครั้งแรก
(จากการถูกคนรักนอกใจ)
ความหึงหวงในคน
หากคุณมีคนรักอยู่ในเวลานี้ หรือเคยมีมาก่อนก็ตาม เชื่อว่า
คงมีสักครั้งหนึ่งที่คุณรู้สึกหึงหวงคนรักขึ้นมา เช่น
เห็นคนรักกำลังพูดคุยกับเพื่อนต่างเพศอย่างสนิทสนมในระหว่างออกงานสังคม, กำลังติดต่อกับเพื่อนต่างเพศผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ facebook ในขณะที่คุณนอนอยู่ข้างๆ ปฏิกิริยาหลังจากนั้นคงแตกต่างกันไปในแต่ละคู่
สำหรับคนที่สามารถควบคุมสติได้ดี มีความสุขุม ก็อาจมองข้าม shot
ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับความหึงหวง
เช่น
- คนที่ไม่หึงหวงมีหรือไม่ ถ้ามีจะหมายความว่าอย่างไรได้บ้าง
- ความหึงหวงมีประโยชน์สำหรับชีวิตคู่หรือไม่
- ความหึงหวงในคู่รักปกติควรมีลักษณะอย่างไร ทำอะไรได้แค่ไหน
- ทำอย่างไรจึงจะควบคุมความหึงหวงให้อยู่ในระดับปกติ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
การที่จะเข้าใจเรื่องความหึงหวงได้ง่ายขึ้น จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ โรค
หรือ ภาวะเสพติดรัก ด้วย (ผมหวังว่าจะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ในครั้งต่อไป) เพราะความรู้ทำให้เกิดปัญญา สามารถตั้งรับและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ประเด็นที่ขอเน้นย้ำกันตรงนี้ก็คือความจริงที่ว่า
จิตใต้สำนึกของคนเสพติดรักทุกคน เต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดกลัวการถูกทอดทิ้ง
ซึ่งความกลัวเช่นนี้เป็นต้นตอของความรู้สึกไม่มั่นคง คนรักของพวกเขาจึงเป็นเพียงหลักประกันของความมั่นคงทางจิตใจ
พวกเขาจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคนรักอย่างมาก อันเนื่องมาจากความกลัวว่าจะสูญเสียคนรักไป
คนเสพติดรักจึงเป็นคนที่หึงหวงอย่างรุนแรงโดยไม่ได้มี
“รักแท้” ต่อคนรักเลย
ความหึงหวงของพวกเขาจัดอยู่ในระดับ
ไม่ปกติ
นักวิชาการจึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการจำแนกความหึงหวงในระดับ
ผิดปกติ ออกจากระดับ ปกติ ดังนี้
- มีความวิตกกังวลสูงมาก หมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับคนรักอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คนรักไม่ได้อยู่ด้วย ซึ่งเทียบได้กับอาการวิตกกังวลต่อการถูกทอดทิ้ง(Separation anxiety) ในเด็กเล็กๆที่ต้องการให้แม่อยู่ด้วยตลอดเวลา พฤติกรรมที่พบบ่อยคือ การโทรศัพท์ตรวจสอบอย่างถี่ยิบว่าคนรักอยู่ที่ไหน อยู่กับใครในขณะที่คนรักอยู่นอกบ้าน (ต่างจากอาการหวาดระแวงที่พบในโรคจิตเภท), การตรวจเช็คโทรศัพท์มือถือคนรักว่าได้โทรฯไปหาใครบ้างในรอบ 24 ชั่วโมง, การซักไซ้คนรักอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำในช่วงเวลาที่น่าสงสัย รวมถึงการตรวจเช็คการติดต่อผ่านอุปกรณ์สื่อสารทันสมัยอื่นๆ
- ไม่มีสมาธิในการทำงานและทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน
- มีปัญหาทะเลาะวิวาทกับคนรักอยู่เป็นประจำอันเนื่องมาจากความสงสัยและหวาดระแวงว่าคนรักจะนอกใจ
สัตว์……มีความหึงหวงหรือไม่
เราคงไม่สามารถทราบได้ว่า
สัตว์มีความหึงหวงหรือไม่ หากพวกมันมีความหึงหวงจริงก็คงไม่อยู่ในระดับเดียวกับคน เพราะคนมีสมองที่สลับซับซ้อนกว่าทำให้มีความคิดและจินตนาการได้มากกว่า
สัตว์ตัวผู้ที่พ่ายแพ้ในศึกชิงนาง
ก็เพียงบินหนี หรือวิ่งหนีไปหาคู่ตัวใหม่
ไม่เสียใจจนต้องบินด้วยความเร็วสูงพุ่งชนหน้าผาคอหักตาย
หรือกระโจนลงแม่น้ำเชี่ยวกรากดับชีพตัวเองอย่างแน่นอน ในเรื่องนี้มีนักวิชาการหลายท่านได้ทำการศึกษาไว้
และพบว่า
มีสัตว์หลายสายพันธุ์ที่ตัวผู้กับตัวเมียมีพฤติกรรมแสดงความเป็นเจ้าของคู่มันอย่างชัดเจน
เช่น ชะนีตัวผู้จะขับไล่ตัวผู้อื่นๆออกจากอาณาเขตครอบครัวของมัน
ส่วนตัวเมียก็จะขับไล่ตัวเมียอื่นๆเช่นกัน การศึกษาอีกกรณีหนึ่งทำในลิงชิมแพนซี
ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโครโมโซมใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด
โดยการสังเกตพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ของมัน พบว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ลิงชิมแพนซีตัวเมีย (ที่มีลูกในวัยสาว) กำลังมีท่าทีเชิญชวนลิงหนุ่มตัวหนึ่งให้มีเพศสัมพันธ์กับมัน
แต่ลิงหนุ่มตัวนั้นไม่สนใจ กลับเข้าหาลูกสาวและทำท่าจะร่วมเพศ
แม่ลิงรีบตรงเข้าหาลิงหนุ่มตัวนั้นและทุบตีอย่างแรง (ด้วยความหึงหวง
?)
อีกการทดลองหนึ่งที่ทำในนกภูเขาชนิดหนึ่งโดย Dr.
David P. Barash นักชีววิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary
biologist) และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาใช้นกตัวผู้ที่สตัฟฟ์ (stuffed) ไว้วางใกล้ๆรังนกตัวผู้ซึ่งเป็นเจ้าของรัง
เมื่อเจ้าของรังบินกลับมาเห็นเข้าก็ส่งเสียงร้องอย่างดัง และตรงเข้าจิกงับนกสตัฟฟ์ตัวนั้นอย่างแรง
ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ
มันยังตรงเข้าทำร้ายคู่ของมันด้วยการจิกและดึงทึ้งขนเส้นสำคัญๆบริเวณปีกจนหลุดออกมา
จนในที่สุดเธอต้องบินหนีไป
นกตัวผู้ตัวนี้ทำไปเพราะความหึงหวงหรือไม่?
แต่ เพียงอีกสองวันต่อมา
ตัวเมียตัวใหม่ก็เข้ามาแทนที่……………
ดูช่างคล้ายกับพฤติกรรมของสัตว์ประเสริฐตัวผู้บางส่วนเสียจริงๆ
สรุป
คุณอาจสงสัยว่า ความหึงหวงคนรักของมนุษย์เป็นสัญชาติญาณ หรือการเรียนรู้กันแน่
สัตว์ตัวผู้บางสายพันธุ์เช่น สิงโต ช้าง
ต้องต่อสู้กับตัวผู้อื่นๆเพราะต้องการเป็นเจ้าของตัวเมียทั้งฝูง
ในขณะที่สัตว์บางสายพันธุ์ เช่น นกกระเรียน นกเงือก หนู Prairie vole (ได้เคยกล่าวไว้ในบทก่อนๆ)
เป็นประเภทรักเดียวใจเดียวชั่วชีวิต ความรู้เกี่ยวกับสารสื่อประสาทและการทำงานของสมองที่แตกต่างกันนั้น เพียงพอหรือไม่สำหรับการอธิบายความแตกต่างของพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของสัตว์ต่างสายพันธ์
เราไม่รู้ว่าพวกมันคิดหรือมีแรงจูงใจต่างกันหรือไม่และอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างไปจากมนุษย์หรือไม่
ส่วนมนุษย์เองนั้นคิดเหมือนหรือต่างไปจากพวกมันหรือไม่ ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่า
มนุษย์....................... มีหลายสายพันธุ์ เช่นกันหรือเปล่า ?
หัวข้อต่อไปน่าสนใจมากๆ เพราะคนส่วนใหญ่ทำผิดกันอยู่ทุกวี่วันโดยไม่รู้ตัว
ลองติดตามดูนะครับ
2 ความคิดเห็น:
ฉันบังเอิญเปิดมาเจอบล็อคนี้ อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ยังมีความสนใจอยากรู้เกี่ยวกับความรักอยู่ แต่ความรู้สึกผิดหวังนี่มันเอ่อล้นมากค่ะ รู้สึกหดหู่กับข้อเท็จจริงที่ได้รับ จนไม่อยากจะเปิดรับใครอีกแล้ว รู้สึกกลัวการมีความรัก
เพิ่งมาอ่านเจอ คุณหมอคะดิฉันมีความหึงหวงในระดับ ผิดปกติค่ะ ตรงตามหลักเกณฑ์ที่จำแนกแยก ออกมาทุกข้อเลย ดิฉันควรทำอย่างไรคะ
แสดงความคิดเห็น