เราลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่ทั่วๆไปกันบ้างนะครับ
เวลาที่เกิดความขัดแย้งระหว่างภรรยาสามี
หลายครั้งเกิดจากการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมของฝ่ายหนึ่ง
ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจและมีปฏิกิริยาตอบโต้ เริ่มด้วยการโต้เถียงกันไปมา
ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสงครามน้ำลายได้สักพัก
ทั้งสองฝ่ายอาจสงบศึกกันไปเองโดยการเงียบลงของฝ่ายหนึ่ง แต่หากต่างฝ่ายยังไม่หยุด
ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่ฝ่ายหนึ่งควบคุมอารมณ์ไม่ได้อีกต่อไป
และปลดปล่อยอารมณ์ออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น ร้องไห้คร่ำครวญเสียงดัง
ร้องกรี๊ดลั่นบ้าน ขว้างปาข้าวของ ทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหรือตนเอง
จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดคือ การฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย หรือทั้งสองอย่าง
หากเราลองมองเหตุการณ์ย้อนหลังจะพบความจริงว่า
ความขัดแย้งต่างๆในครอบครัวมักเริ่มต้นจากคำพูดในเชิงลบ เช่น ตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ
ข่มเหง ข่มขู่ ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของ การรุกล้ำอาณาเขตแห่งตัวตน
ของอีกฝ่ายนั่นเอง จากนั้น กลไกทางจิต (Mental
/ Defense mechanism) ของอีกฝ่ายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานเพื่อปกป้องตนเอง
ซึ่งมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ
1. สู้ (Fight) 2. สยบยอม (Freeze) 3. หนี (Flight)
จะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้นั้น
1. หากเป็นคนแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ ก็จะโต้ตอบกลับไปเต็มที่
ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตาต่อตาฟันต่อฟัน กล้าได้กล้าเสีย วัดใจกันไปเลย
คนกลุ่มนี้ใช้กลไกทางจิตที่เรียกว่า การสู้ (Fight)
2. ถ้าเป็นคนจิตใจอ่อนแอ ตกใจง่าย ไม่สู้คน ก็จะเป็นฝ่ายนิ่งเฉย หรือเพียงแค่ร้องไห้เสียใจ
ในที่สุดก็ยอมจำนนทนอยู่กับคู่ครองต่อไปเพื่อความอยู่รอดทางกายภาพ
กลไกทางจิตแบบนี้คือ การสยบยอม (Freeze)
3. ในกรณีที่ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆแล้วไม่ได้ผล
เล็งเห็นว่าการทนอยู่ต่อไปไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ความทุกข์ระทม ประตูหน้าต่างทุกบานปิดตายก็จะเลือกออกทางหลังคา
ยอมเป็นฝ่ายหนีไปจากที่นั้นสู่ชีวิตใหม่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกการทำร้ายตนเอง
หรือฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาและความทุกข์ใจต่างๆ กลไกทางจิตเช่นนี้ก็คือ การหนี (Flight)
แต่หากเป็นคนที่จิตใจเยือกเย็น
มีวุฒิภาวะสูง จะตั้งสติได้ดี
เลือกที่จะนิ่งเงียบสักครู่เพื่อจับประเด็นให้ได้ว่าอีกฝ่ายเขากำลังไม่พอใจเรื่องอะไร
เพราะอะไร เกิดจากความเข้าใจผิดหรือไม่ รอจังหวะที่จะพูดเพื่อทำความเข้าใจ
มีความยืดหยุ่น เลือกใช้คำพูดที่อีกฝ่ายฟังแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น หรือโกรธน้อยลง
ประเมินอารมณ์ของอีกฝ่ายได้ถูกต้อง และสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมว่า
ควรจะพูดหรือทำอย่างไรต่อไปในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ใช่การสงบนิ่งในความหมายของการสยบยอม
(Freeze) หรือยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้ แต่เป็นการใช้กลยุทธ์แบบรอคอยจังหวะ
ไม่กระทบต่อตัวตน (ego) หรือ ศักดิ์ศรี (dignity) ของทั้งสองฝ่าย หากจะรู้สึกบ้างก็สามารถยอมรับได้ นับเป็นการแก้ปัญหาแบบประนีประนอม
ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงในหลายสถานการณ์และให้ผลดีในระยะยาว
ชีวิตคู่ คือ “เรา” เท่านั้นหรือ ?
บ่อยครั้งที่ปัญหาในชีวิตคู่เกิดจากการที่ฝ่ายหนึ่ง คิด และ รู้สึก
แทนอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น
- ต้องการแสดงความห่วงใยให้อีกฝ่ายรับรู้ เพื่อเขาจะได้รักเรามากขึ้น
- ต้องการสื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า “ฉันเข้าใจความรู้สึกของเธอเป็นอย่างดี” “ฉันรู้นะว่า เธอคิดอะไรอยู่”
- เกิดจากกการเรียนรู้ผิดๆของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับความรักว่า “รักแท้ย่อมเข้าใจในรัก” คือ ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันไปเสียหมดทุกเรื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเราทุกคนต่างก็มีอาณาเขตแห่งตัวตน (ego boundary) ด้วยกันทั้งนั้น
สิ่งที่คู่รักต้องเข้าใจตรงกันก็คือ ชีวิตคู่ ต้องประกอบด้วย “เรา” “ฉัน” และ “เธอ” ไม่ใช่มีแต่ “เรา”
เท่านั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมหันต์สำหรับคู่รักโดยทั่วไปที่คิดว่า
เราต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวโดยสิ้นเชิงหลังชีวิตแต่งงาน
มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดเช่นนี้จนไม่กล้าที่จะรักใคร
หากเปรียบคนเราเป็นบ้าน ทุกบ้านต้องมีรั้วกั้นเพื่อกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจน แต่เพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อยมักไม่ค่อยจะถูกกัน
บางคนมีนิสัยเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน จึงคอยเอาเปรียบเล็กๆน้อยๆหรือทำอะไรไม่เข้าท่า
เช่น จูงสุนัขของตัวเองไปถ่ายหน้าบ้านคนอื่น เปิดเพลงดังๆเผื่อข้างบ้าน
บีบแตรรถอย่างดังยามวิกาลเพื่อเรียกคนรับใช้มาเปิดประตูบ้าน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเข้าข่าย
รุกล้ำอาณาเขตส่วนบุคคล ของคนอื่นทั้งสิ้น
สำหรับ “ตัวตน” ของแต่ละคนนั้น
เส้นแบ่งเขตเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาล้ำเส้นกันได้ง่ายกว่ารั้วบ้าน
ในชีวิตประจำวัน เราจึงมักรู้สึกว่า
อาณาเขตแห่งตัวตนของเราถูกกระทบหรือรุกล้ำอยู่บ่อยๆ
แล้วจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนด
อาณาเขตแห่งตัวตนระหว่างเรากับคนรักของเรา
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรุกล้ำเขตแดนกัน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
เส้นแบ่งอาณาเขตแห่งตัวตนระหว่างคู่รักนั้น
ควรมี 2 ลักษณะ คือ
1. แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถปกป้องตัวตนของทั้งสองไม่ให้อีกฝ่ายล่วงล้ำเข้ามาได้
2. ยืดหยุ่น
สามารถให้กระแสความคิด อารมณ์ความรู้สึก
รวมถึงคำพูดและการกระทำของทั้งสองฝ่ายซึมผ่านไป
มาได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน
เส้นแบ่งเขตทั้งสองแบบนี้จะเกิดเป็นจริงได้
จำเป็นต้องมีการกำหนดกติกาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับชีวิตคู่
เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในที่นี้ ขอเสนอตัวอย่าง “กติกาชีวิตคู่” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็น “ของเรา” “ของฉัน” และ “ของเธอ” ให้ท่านพิจารณาและเลือกนำไปทดลองปฏิบัติ
โดยสามารถปรับแต่งได้ตามความเห็นพ้องของทั้งสองฝ่ายต่อไป
กิจกรรมที่เป็น “ของเรา”
· อุทิศเวลาให้แก่กันและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
โดยสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
· วางแผนชีวิตร่วมกัน
เช่น การสร้างฐานะ สร้างอนาคตให้ลูก ไม่โยนภาระหน้าที่บางอย่างให้ฝ่ายเดียว เช่นการอบรมเลี้ยงดูลูก พ่อควรมีบทบาทที่ไม่น้อยกว่าแม่ ความคิดที่ว่า สามีเป็นคนหาเงิน
ทำงานหนักกว่าภรรยา งานเลี้ยงลูกจึงควรเป็นหน้าที่ของภรรยาคนเดียว ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด
และอาจส่งผลเสียอย่างมากจนเกินแก้ไขในระยะยาว
ถึงแม้ภรรยาจะเป็นแม่บ้านเต็มตัวก็ตาม เพราะลูกๆของท่านต้องการทั้งแม่และพ่อ
· แสดงความเอื้ออาธรต่อกันในสถานการณ์ต่างๆ
เช่น ยามเจ็บป่วย เวลามีเรื่องเครียดจากที่ทำงานหรือเรื่องทุกข์ใจต่างๆ
· ปรึกษาหารือกันเวลาเกิดปัญหาในครอบครัวโดยไม่โยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง
· ให้อภัยซึ่งกันและกัน
หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจ สามารถถามไถ่กันได้โดยอีกฝ่ายไม่ควรแสดงความไม่พอใจหรือโกรธเคืองกัน
· ไม่มีความลับระหว่างกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง เช่น ภาวะหนี้สิน
การถูกคดโกง ตรวจพบโรคร้าย แฟนเก่าโทรฯมาคุยหรือพยายามติดต่อผ่านทาง facebook กรณีหลังนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก
เพราะถึงแม้จะไม่มีเรื่องชู้สาว แต่คนรักปัจจุบันจะเกิดความหึงหวงรุนแรงได้
ควรให้เขาหรือเธอรับรู้ด้วยการแสดงความบริสุทธิ์ใจของคุณและยืนยันว่าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม
อย่าลืมว่า ความลับไม่มีในโลก หากคุณยังไม่ตัดให้ขาด สักวันหนึ่งอาจเกิดความผิดพลาดจนยากต่อการแก้ไข
(รายละเอียดอยู่ในบท “ชู้ทางใจ”)
กิจกรรมที่เป็น “ของฉัน” และ “ของเธอ”
คือ
การเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ไม่ละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัว เช่น
- ไม่ตรวจเช็คมือถือของคนรักเพื่อค้นหาว่าได้โทรหากิ๊ก
หรือผู้ต้องสงสัยรายใดบ้าง
- ไม่ตรวจเช็ค E-mail , facebook
หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ
- ไม่ค้นลิ้นชักโต๊ะทำงานส่วนตัวหรืออ่านสมุดโน้ต บันทึกส่วนตัว
- ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เช่น การทำงาน
ปัญหาระหว่างญาติพี่น้องของอีกฝ่าย
- ยอมรับในตัวตนของเขาว่า เขาก็เป็นคนเช่นนั้นเอง และเป็นมาก่อนที่จะรู้จักคุณ
ในเมื่อคุณตัดสินใจเลือกเขาแล้ว แสดงว่าคุณยอมรับในตัวเขา หากคุณเลือกเขาเพราะคิดที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือข้อเสียบางอย่างของเขาในภายหลัง
นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของคุณเอง
มีทางเลือกอยู่เพียงสองทางเท่านั้นที่คุณทำได้ในตอนนี้คือ
1. เปลี่ยนความคิดของคุณเสียใหม่
หรือ
2. เปลี่ยนคนรักใหม่
- สำหรับคนที่ยังไม่มีความรัก
ต้องระวังความคิดเช่นนี้ของตัวเอง
และควรค้นหาคนรักต่อไปจนกระทั่งพบความจริงสองประการคือ
1. คนๆนั้นไม่มีอยู่จริง
2.
คนๆนั้นมีอยู่จริง แต่มีเจ้าของแล้ว
- ให้โอกาสซึ่งกันและกันในการทำกิจกรรมที่ชอบ
ไม่บังคับอีกฝ่ายให้ทำในสิ่งที่คุณชอบโดยที่เขาไม่ชอบ
ข้อควรจำ
เราทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง………ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนนิสัย
หรือบุคลิกภาพของใครได้…… แม้แต่ของตัวเราเอง
การเลือกคนรักโดยหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่างของเขาหรือเธอ
ให้เป็นอย่างที่เรา
ต้องการ จึงเป็นความเข้าใจผิดที่นำหายนะมาสู่ชีวิตคู่ในภายหลัง
สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ “ความเหมือนและความแตกต่าง” ของกันและกันนั้น
เป็นสิ่งที่เราต้องการและยอมรับได้หรือไม่……โดยไม่หลอกตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น