เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ Dr.
Sternberg ใช้รูปสามเหลี่ยมแทนโครงสร้างของความรัก ด้วยการวางตำแหน่งของแต่ละองค์ประกอบหลักไว้ที่มุมทั้งสาม องค์ประกอบหลักเหล่านี้ยังทำให้เกิดความรักได้อีก 4 แบบด้วยกัน ดังภาพ
ความรักประเภทต่างๆ : Dr.
Sternberg อธิบายว่า
คู่รักแต่ละคู่จะมีความรักแบบต่างๆรวมกันอยู่ในสัดส่วนที่ต่างกัน
โดยที่แต่ละคู่จะมีจุดเริ่มต้นของความรักต่างกันได้ 3 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 เริ่มจากความรู้สึกเสน่หา (Passion)
เมื่อหนุ่มสาวพบกันครั้งแรก
ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากันตรงๆจากการแนะนำโดยเพื่อนฝูง หรือพบกันโดยบังเอิญ
หากฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกถูกตาต้องใจอีกฝ่ายหนึ่งอันเนื่องมาจากรูปลักษณ์ภายนอก
เช่น ความสวยความงาม ความหล่อเหลาของใบหน้า ความได้สัดส่วนของเรือนร่าง
ก็จะเกิดแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมสร้างสัมพันธภาพต่างๆตามมา เช่น การเกี้ยวพาราสี
ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า
เพศชายจะถูกกระตุ้นให้รู้สึกสนใจด้วยลักษณะทางเพศอันโดดเด่นของเพศหญิง เช่น
ขนาดหน้าอกที่ใหญ่โต เอวคอด สะโพกผาย ผิวพรรณดูเนียนสะอาด ส่วนเพศหญิงมักสนใจคล้ายคลึงกัน
ที่เพิ่มขึ้นคือ จะรู้สึกสะดุดใจกับลักษณะที่บ่งบอกถึงความมั่นใจในตนเอง
มีภาวะผู้นำ ให้ความรู้สึกอบอุ่นดูน่าไว้วางใจของผู้ชายคนนั้น
คุณสมบัติเหล่านี้เรารู้จักกันดีในชื่อว่า " เสน่ห์ทางเพศ " (sex appeal หรือ sexual attractiveness) นั่นเอง ซึ่งต่างกับ " ความมีเสน่ห์ " (Charm) (ทั้งสองคำนี้จะพูดถึงโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งในบทต่อไป)
ความรักที่เริ่มจากความรู้สึกเสน่หานี้ ยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ
1.1 ความรักแบบเสน่หา
(Passionate love)
ความรักส่วนใหญ่เริ่มต้นแบบนี้ เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ
ความเสน่หา (Passion) เป็นความรักที่มีอารมณ์ซุกซ่อนรุนแรง
กลัวๆกล้าๆ ความคิดเดินหน้าถอยหลังไม่แน่ใจในตนเอง
ทำให้เกิดความปั่นป่วนฟุ้งซ่านในจิตใจ คิดถึงอีกฝ่ายอยู่เกือบตลอดเวลา
ทำให้ใจเหม่อลอยจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การทำงาน
หากเป็นรักข้างเดียว หรือ
ไม่ได้รับการตอบสนองจากอีกฝ่ายก็ยิ่งทำให้เกิดความกระวนกระวายถึงขั้นทุกข์ทรมานใจอย่างหนัก
ในภาษาอังกฤษอาจเรียกได้อีกคำหนึ่งว่า Infatuated love หรือ Infatuation ซึ่งแปลว่า ความรักขั้นหลงใหล
หรือ หลงรักอย่างมาก
ในคนที่มีความมุ่งมั่นจริงจังก็มักมีแรงขับให้เดินหน้าสู่พฤติกรรมในลำดับต่อไป
1.2 ความรักหวานซึ้ง
(Romantic love)
ฝ่ายที่มีรักจะเริ่มแสดงพฤติกรรมต่างๆให้อีกฝ่ายรู้ว่า " ผมสนใจคุณนะ
" หรือ " เค้าชอบตัวนะ " ด้วยการสร้างสัมพันธภาพเบื้องต้น เช่น
การให้เวลาไปมาหาสู่อยู่ด้วยกันมากขึ้น จากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการเกี้ยวพาราสี (courting)
เช่น การพูดเล่นหยอกล้อ ซื้อขนมมาฝาก
การเอาอกเอาใจด้วยการบริการต่างๆ หากอีกฝ่ายสนใจก็จะเริ่มมีท่าทีตอบสนอง กระบวนการสร้างสัมพันธภาพแห่งรักจะเริ่มต้นพัฒนาตัวมันจากขั้นหนึ่งสู่อีกขั้นหนึ่ง
เหมือนการเล่นเกมผ่านด่านต่างๆ
จนถึงจุดหนึ่งจะเกิดความสนิทสนมคุ้ยเคยและผูกพันกันอย่างมาก (Intimacy) ดังนั้น romantic
love จึงเป็นส่วนผสมของ
passionate love กับ intimate love ความรักในช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความงดงาม ความซาบซึ้งใจ
และความทรงจำดีๆซึ่งจะกลายเป็นรากฐานของความรักที่มั่นคงต่อไป นิยายและภาพยนตร์รักส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของความรักในระยะนี้
ในขณะเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้ก็ย่อมต้องประสบกับความผิดหวังอย่างรุนแรง
ผู้คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกต้องสังเวยชีวิตของตนในแต่ละวันไปเพราะเหตุนี้
จึงควรที่เราทุกคนต้องตั้งสติให้ดีด้วยการรู้เท่าทันในความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในทุกรูปแบบ
ทุกขั้นตอนของความรัก
1.3 ความรักแบบหลงใหลคลั่งไคล้
(Fatuous love)
เป็นความรักที่มีส่วนผสมของความรักแบบเสน่หา (Passionate love) กับความรักตามคำมั่นสัญญา (commitment
love) เป็นความรักที่มักเกิดในวัยรุ่น
เต็มไปด้วยความเร่าร้อนแห่งไฟเสน่หา รอไม่ได้ ไม่ฟังเสียงทัดทานของผู้ใหญ่
ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ คู่รักมักรีบให้สัญญารักต่อกัน ทำให้เกิดพฤติกรรม "
ชิงสุกก่อนห่าม " หนีตามกันไปแล้วกลับมาขอขมาในภายหลัง
ความรักประเภทนี้มักไม่ผ่านกระบวนความรักขั้นโรแมนติก ขาดการศึกษาเรียนรู้นิสัยใจคอกัน
จึงมักจบลงอย่างรวดเร็วดังคำโบราณที่ว่า " รักง่ายหน่ายเร็ว "
ข้อควรระวังสำหรับความรักในข้อ 1.1 และ 1.2 คือ หากคู่รักไม่สมหวังด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ถูกกีดกันจากผู้ใหญ่
ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปลี่ยนใจหรือนอกใจ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในลักษณะ
" พิศวาสฆาตกรรม " ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ
คู่รักทั้งหลายที่อยู่ในระยะรักแบบนี้จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว
ก่อนอื่นควรต้องตั้งสติให้ดี
วิธีที่ดีที่สุดคือการปรึกษาผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนที่สามารถให้คำแนะนำได้
ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรซ้ำเติม
ทุกคนควรมีสติไม่วู่วาม ก็จะเกิดปัญญาสามารถหาทางออกได้อย่างเหมาะสมในที่สุด
แบบที่ 2 เริ่มจากความใกล้ชิดสนิทสนม
(Intimacy)
เป็นความรักที่เริ่มจากความเป็นเพื่อนกันตั้งแต่วัยเด็กหรือหนุ่มสาว
รู้สึกชอบพอกันแบบเพื่อน เมื่อความสนิทสนมมากขึ้นเรื่อยๆจึงค่อยเปลี่ยนเป็นความรัก
โดยมีสัดส่วนของความรักฉันท์คู่รักที่เพิ่มขึ้นตามวัย เส้นทางรักต่อไปเป็นได้ 2 ทาง คือ
2.1 รักหวานซึ้ง (Romantic
love)
ด้วยอายุที่มากขึ้นจากวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
ฮอร์โมนเพศแสดงบทบาทของตัวมันเพิ่มขึ้น ความรู้สึกจึงค่อยๆเปลี่ยนไป
ทั้งสองฝ่ายอาจีระยะห่างเหินกันไปด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน
เรียนต่อต่างประเทศ แต่ด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิต ทำให้ได้กลับมาพบกันอีก แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หากฝ่ายหนึ่งต้องผิดหวังกับความรักในช่วงที่หายไปจนเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง
ไม่ไว้วางใจใครอีก ไม่อยากจะเริ่มต้นใหม่ ครั้นเมื่อได้มาพบกับเพื่อนเก่าที่รู้ใจ
ความคุ้นเคยเก่าๆทำให้เกิดความไว้วางใจและอยากที่จะสานต่อความสัมพันธ์ครั้งเก่าก่อนให้ลึกซึ้งกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่า ความรักแบบโรแมนติก สามารถมาได้ 2
ทางคือ
เริ่มต้นจากความเสน่หาก่อนแล้วจึงไปผสมกับความรู้สึกสนิทสนมผูกพันในภายหลัง
หรือเริ่มจากความสนิทสนมผูกพันกันมาก่อน แล้วจึงเกิดความเสน่หาตามมา
2.2 รักแบบเพื่อนที่รู้ใจ (Companionate
love)
คู่รักบางรายหลังจากที่ได้รู้จักสนิทสนมกันมาจนเกิดความผูกพันทางใจอย่างเหนียวแน่น
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่า " แยกจากกันไม่ได้ "
เกิดความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา การให้คำมั่นสัญญา จึงบังเกิดขึ้น
กรณีเช่นนี้มักเกิดกับคู่รักที่มีอายุมากกว่าเกณฑ์ปกติที่จะแต่งงานกัน
จึงไม่มีความรักใคร่แบบเสน่หาที่มีตัณหาราคะเป็นองค์ประกอบหลัก
แต่เป็นความรักแบบเพื่อนที่รู้ใจ เพียงแต่มีมากกว่าความเป็นเพื่อนธรรมดา
เพราะเป็นคู่ชีวิตกัน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Companionate marriage ในความหมายของการแต่งงานที่คู่สมรสต่างไม่ต้องการมีบุตร
แต่ต้องการเพียงเพื่อนคู่ชีวิตเท่านั้น
แบบที่่ 3 เริ่มจากการให้คำมั่นสัญญา (Commitment)
ในวัฒนธรรมที่การแต่งงานเป็นแบบ "
คลุมถุงชน " คือ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่
เป็นคนจัดหาคู่ให้ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Arranged marriage
นั้น ความรักของคู่รักไม่ได้เริ่มต้นในแบบธรรมชาติ
จึงไม่เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกต่างๆตามขั้นตอน ความรักที่เริ่มต้นด้วยวิธีนี้
จะมีเส้นทางของมันได้ 2 ลักษณะ คือ
3.1
รักแบบเพื่อนที่รู้ใจ (Companionate love)
ถึงแม้จะไม่ได้เริ่มต้นความรักในแบบธรรมชาติก็ตาม
แต่หากคู่รักมีความรู้สึกที่ดีและจริงใจต่อกัน
ต่างฝ่ายต่างมีคุณสมบัติที่ดีของการเป็นสามีภรรยาให้แก่กัน
รวมทั้งมีปัจจัยเกื้อหนุนชีวิตคู่อย่างเหมาะสม ชีวิตรักก็สามารถดำเนินไปถึงจุดที่ทำให้เกิดความผูกพันลึกซึ้ง
(Intimacy) ทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จในระยะยาวได้เช่นกัน
มีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประเภทของความรักที่ทำให้คู่รักสามารถครองรักกันได้นานที่สุด
ซึ่งพบว่า คู่รักที่เริ่มต้นแบบ pragmatic
love คือ
คำนึงถึงความเหมาะสมรอบด้านอย่างมีเหตุผล เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา
ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรมเดียวกัน จะมีชีวิตคู่เฉลี่ยที่ยาวนานกว่า
ส่วนจะมีความสุขมากกว่าหรือไม่นั้น ไม่มีการกล่าวถึง
3.2 ความรักแบบหลงใหลคลั่งไคล้ (Fatuous love)
รักที่เริ่มต้นจากการคลุมถุงชน
ก็อาจมีความรักแบบเสน่หารัญจวนใจได้หากมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น
ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายต่างมีลักษณะน่าดึงดูดใจทางเพศ
อาจเป็นเรื่องเรือนร่าง สัดส่วนของฝ่ายหญิง หรือ ร่างกายที่กำยำแข็งแรงของฝ่ายชาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในเรื่องเพศสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย
ทำให้เกิดบรรยากาศของความรักที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน
เมื่อเวลาผ่านไป ความรักจะมีการพัฒนาไปตามลำดับ
คู่รักที่มีความลงตัวกันในคุณสมบัติสำคัญๆที่ทำให้ความรักประสบความสำเร็จ
(จะกล่าวในบทท้ายๆเป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง)
ก็จะมีความสุขในชีวิตคู่ซึ่งกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้รักนั้นก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
องค์ประกอบของความรักที่ขาดหายไปในช่วงแรกๆก็จะถูกค้นพบและได้รับการเติมเต็ม
จนความรักสามารถเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางที่เรียกว่า " ความรักที่สมบูรณ์
" (Consummate love) คือ มีทั้ง ความมีเสน่ห์ทางเพศ
ความรู้สึกผูกพัน และความมั่นคงในคำมั่นสัญญา
รวมทั้งความรักแบบอื่นๆที่เป็นส่วนผสมขององค์ประกอบหลักทั้งสามนี้ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามกาลเวลา
หากคู่รักใดเลือกเดินผิดทาง หรือเดินหลงทางด้วยความประมาท
ความรักที่เริ่มต้นด้วยดีก็อาจล่มสลายลงอย่างคาดไม่ถึง
ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนที่ 3 และตอนสุดท้ายของหัวข้อนี้
จะพูดถึง ความหมายของสามเหลี่ยมแห่งรัก ในเชิงลึก
รวมถึงวิธีแก้ไขหากสามเหลี่ยมแห่งรักของคู่รัก มีความแตกต่างกันมากๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น