วันนี้ผมขอเริ่มบทใหม่ที่น่าสนใจมากและมีเนื้อหาที่คิดว่าหลายๆท่านไม่เคยทราบมาก่อน
คือ “ทฤษฎีว่าด้วยความรัก”
ความรัก มีทฤษฎี !? ………….อะไรกันนักหนา……….
หลายท่านเริ่มไม่พอใจ
ใช่แล้วครับ…..มันมีทฤษฎีรองรับมากมายเกินกว่าที่เราเคยรู้กันมา
แต่เป็นเพราะพวกเราเกือบทุกคนไม่เคยสนใจ
ไม่ไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติมให้เพียงพอก่อนที่จะริรัก นึกว่ามันเป็นเรื่องง่าย
เป็นเรื่องของสามัญสำนึก พอกระโจนขึ้นเวทีรักก็ไม่ยอมเสียเวลาไหว้ครูอุ่นเครื่องก่อน
เหวี่ยงหมัดชกลมแบบมวยทะเลผสมมวยวัด เลยโดนหมัดสวนกลับโป้งเดียวจอดหามลงเวทีหมดอนาคตไป
เพราะฉะนั้น จากนี้ไป ถึงเวลาแล้วที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม
จะต้องเร่งหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับมาตรฐานทางความรู้ ความคิด ทัศนคติ ค่านิยม
ความเชื่อเกี่ยวกับความรักให้ใกล้เคียงกัน จะได้พอพูดกันรู้เรื่อง
คนเราเมื่อพูดกันด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ก็จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น หากยังคงปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้กันต่อไป
ก็เป็นอันเชื่อได้แน่ว่า ปัญหาเรื่องคนอกหัก รักคุดแล้วฆ่าตัวตาย
ฆ่ากันตายจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆตามมาอีกมาก ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้รับความรู้เรื่องรักๆใคร่ๆจาก
blog
นี้ ซึ่งผมหวังว่าท่านเองจะได้รับประโยชน์ตามสมควร
อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนมีโค้ชประจำตัว ต่อไปเรื่องรักใครชอบใครก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับท่านอย่างที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตาม ต้องมีความตระหนักว่า
“
ความรักไม่เคยง่าย หากง่ายจนผิดปกตินั่นย่อมไม่ใช่ความรัก
แต่เป็นความหลง
ซึ่งเมื่อใครหลงเข้าไป ก็หาทางออกไม่เจอ ”
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
ทฤษฎีว่าด้วยความรัก (Theories
of Love)
ในกลุ่มนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ที่โดดเด่นเห็นจะไม่มีใครเกิน
Dr.
Robert Sternberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts
University) ทั้งนี้เพราะแนวคิดของท่านได้รับการอ้างถึงอยู่เสมอในแวดวงนักวิชาการ
ประกอบกับเป็นแนวคิดที่เข้าใจง่ายเป็นเหตุเป็นผลดี
โดยท่านได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความรักไว้ในปี ค.ศ.
1986 ดังนี้
ความรัก มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1. ความเสน่หา (Passion) หมายถึง
ความหลงใหลในเสน่ห์ทางเพศ (sex appeal) มีความรู้สึกพึงพอใจในเรือนร่าง
หน้าตา ผิวพรรณ ทรวดทรงองค์เอว และลักษณะทางเพศอื่นๆ รวมไปถึงจริตกิริยามารยาท
น้ำเสียง รู้สึกเย้ายวนรัญจวนใจ
กระทั่งตกหลุมรักในที่สุด เกิดแรงขับที่จะทำความรู้จักและสร้างสัมพันธภาพกันต่อไป
เป็นแรงปรารถนาอันเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศทั้งหญิงและชาย เริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายต่อเนื่องไปถึงช่วงอายุระหว่าง
20-35
ปี
ความสัมพันธ์ที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องด้วยดีทำให้เกิดความสนิทสนมไว้วางใจกัน
และกระตุ้นให้มีแรงปรารถนาทางเพศต่อกัน ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย
ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ
และการยอมรับ ที่สำคัญคือ ความจริงใจต่อกัน
2. ความผูกพัน (Intimacy)
หมายถึง
ความผูกพันอันเกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนมในฐานะคนรัก (แฟน) หรือคู่ครอง(ภรรยา-สามี) มาระยะหนึ่ง
มีความอบอุ่นมั่นคงทางใจอันเกิดจากความเข้าใจและไว้วางใจกัน
ทำให้ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไป
ก่อนหน้านั้น
2
ปี คือ ในปี ค.ศ.1984
ท่านและเพื่อนร่วมงานชื่อ Grajek ได้กำหนดคุณลักษณะของ ความกพัน เอาไว้
10
ประการ คือ
1. มีความปรารถนาที่จะทำให้คนรักมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งรัก (รักแรกพบ หลงรัก การเกี้ยวพาราสี การคบหาในแบบคู่รัก) กับคนรักมาก่อน
3. รู้สึกห่วงใยและคำนึงถึงความรู้สึกของคนรักอย่างมาก
4. เป็นที่พึ่งได้ในยามที่คนรักต้องการ
5. มีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
6. สามารถแบ่งปันทรัพย์สมบัติต่างๆรวมทั้งความทุกข์-สุขร่วมกับคนรักได้
7. ได้รับการปลอบประโลมใจและกำลังใจจากคนรัก
8. ให้การปลอบประโลมใจและกำลังใจต่อคนรัก
9. พูดคุยสื่อสารกับคนรักได้อย่างลึกซึ้งและจริงใจ
10. เห็นคุณค่าในตัวคนรัก
3. การตัดสินใจ (Decision)
และการให้คำมั่นสัญญา
(Commitment)
เมื่อเราเริ่มรู้สึกรักใครสักคนมาถึงจุดหนึ่งเราต้องตัดสินใจว่า
จะทำอย่างไรต่อไป Dr. Sternberg ได้แบ่งช่วงเวลาของการตัดสินใจออกเป็น
2 ช่วง คือ
1. ช่วงแรก
ในขณะที่เรากำลังตกหลุมรักในระยะแรกๆนั้น เราจะรู้สึกไม่มั่นคง
เกรงว่าคนที่เรารักจะไปรักคนอื่น หรือมีใครมาแย่งคนรักไป จึงต้องรีบตัดสินใจ (Decision)
ลงไปว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หากตัดสินใจเดนหน้าต่อจนเกิดการพัฒนาเป็นที่น่าพอใจ
ก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ต่อไป
2. ช่วงที่ 2 เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความต้องการตรงกัน โหยหาชีวิตคู่ร่วมกัน ก็จะมีการให้คำมั่นสัญญาต่อกัน
(Commitment) และดำเนินการตามกฎเกณฑ์ทางสังคมต่อไป คือ
การแต่งงาน
อนึ่ง
ความสำคัญขององค์ประกอบทั้ง 3 นี้
จะแตกต่างกันไปในคู่รักแต่ละราย หรือแม้แต่ในคู่รักเดิมเมื่อเวลาผ่านไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น